วันพุธที่ 4 เมษายน พ.ศ. 2555

2.4 ปัจจัยสำคัญที่มีผลทำให้เกิดนวัตกรรมการศึกษา

0 comments
 
วิวัฒนาการนวัตกรรมทางด้านการศึกษาได้มีพัฒนาการต่อเนื่องมาโดยตลอด แต่เดิมที่มีการเรียนรู้จากห้องเรียน เป็นหลัก ต่อมามีการพัฒนารูปแบบการเรียนรู้ออกไปอีกหลายรูปแบบ ซึ่งแต่ละแบบต่างมีสิ่งผูกพันเกี่ยวข้องต่อกัน
 นวัตกรรมทางการศึกษา ส่งผลใด ต่อการจัดการศึกษา
สำหรับนวัตกรรมทางการศึกษาที่มีการพัฒนาขึ้น จะส่งผลกระทบโดยตรงต่อกระบวนการจัดการศึกษา ดังต่อไปนี้
1. เกิดวิธีการจัดการเรียนการสอนด้วยระบบหรือวิธีการใหม่ๆ
2. จะเกิดรูปแบบเทคนิควิธีการสอนใหม่ในแต่ละสาระวิชา ที่เหมาะสมกับกลุ่มเป้าหมาย
3. มีการพัฒนาสื่อประกอบการสอน หรือสื่อการสอนหลักใหม่ ๆ เข้ามาใช้ในกระบวนการเรียนการสอน
4. การใช้เทคโนโลยีด้านคอมพิวเตอร์มาปรับใช้ในระบบการเรียนการสอนในระบบทางไกลและการเรียนด้วยตัวเอง
5. จะเกิดแนววิธีคิดในการออกแบบหลักสูตรสำหรับการเรียนรู้ด้วยวิธีการใหม่ๆ
6. มีรูปแบบการจัดการด้านการวัดผลแบบใหม่

  นวัตกรรมเป็นปัจจัยสำคัญของการจัดการศึกษา
ในอนาคตนวัตกรรมมีแนวโน้มว่า จะเป็นสิ่งจำเป็น และสำคัญอย่างยิ่งต่อกระบวนการจัดการศึกษา อันมีผลมาจากปัจจัยต่อไปนี้ (สมพร ชมอุตม์, 2532)
1. ปัจจุบันมีนวัตกรรมเกิดขึ้นใหม่ๆ ในทางการเรียนการสอน มีสื่อซึ่งผลิตออกมาอย่างไม่หยุดยั้ง
2. การเปลี่ยนวิธีการสอนแบบใหม่ ๆ ซึ่งครูใช้กันอย่างกว้างขวางด้วยการเผยแพร่ทางโทรทัศน์ โดยผลิตรายการทางการเรียนการสอนออกมาเป็นเกม ซึ่งผสมผสานกับวิชาการ ผู้เรียนเรียนอย่างสนุกสนานและมีความสนใจสูง แถมยังเรียนได้ผลดีด้วย
3. มีสื่อหลากหลายซึ่งช่วยให้เด็กได้เรียนรู้ด้วยตนเองเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ
4. มีการเปลี่ยนแปลงหลักสูตรเพื่อให้เข้ากับสภาวะการณ์ในปัจจุบัน
5. คนสนใจทางการศึกษาเพิ่มขึ้นเพื่อเพิ่มพูนความรู้จากการศึกษานอกระบบ เช่น มหาวิทยาลัยเปิด มีการเรียนการสอนโดยใช้วิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ สิ่งพิมพ์ตลอดจนการเรียนคอมพิวเตอร์ มีระบบการเรียนแบบการให้การศึกษาทบทวนความรู้เก่าที่ลืมไปแล้ว
(re-education)
6. ทรัพยากรการเรียนรู้เพิ่มขึ้น กล่าวคือ มีการผลิตสื่อออกมาหลาย ๆ รูปแบบและยังมี
นักวิชาการสาขาใหม่ๆ เพิ่มขึ้น เช่น วิศวกรการจราจร (Traffic Engineering) เพราะการสัญจรกลายเป็นเรื่องศาสตร์ที่ต้องศึกษากันอย่างกว้างขวางและลึกซึ้ง วิศวกรจะต้องวางแผนการสร้างถนนหนทางว่าทำอย่างไรจึงทำให้การจราจรไม่ติดขัด หรือมีวิชาการใหม่ ๆ เช่น ปิโตรเคมี สาขาเกษตรทางการประมง เป็นต้น
7. การวิจัยเกี่ยวกับผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนการสอนมีเพิ่มขึ้นทั้งในและนอกประเทศ
8. ความสัมพันธ์ระหว่างโรงเรียนในระบบและนอกระบบ มีความร่วมมือกันระหว่างเอกชนกับรัฐที่ประสานงานกันในเรื่องของการเรียนการสอน ตลอดจนมีการฝึกอบรมทางวิชาการเพิ่มขึ้นทั้งฝ่ายของรัฐและเอกชน

  มูลเหตุสำคัญในการเกิดนวัตกรรมทางการศึกษา
1. เพื่อนำนวัตกรรมมาใช้แก้ปัญหาในเรื่องการเรียนการสอน เช่น
1.1 ปัญหาเรื่องวิธีการสอน ปัญหาที่มักพบอยู่เสมอ คือ ครูส่วนใหญ่ยังคง
ยึดรูปแบบการสอนแบบบรรยาย โดยมีครูเป็นศูนย์กลางมากกว่าการสอนในรูปแบบอื่น การสอนด้วยวิธีการแบบนี้เป็นการสอนที่ขาดประสิทธิภาพและประสิทธิผลในบั้นปลาย เพราะนอกจากจะทำให้นักเรียนเกิดความเบื่อหน่าย ขาดความสนใจแล้ว ยังเป็นการปิดกั้นความคิด และสติปัญญาของผู้เรียนให้อยู่ในขอบเขตจำกัดอีกด้วย
1.2 ปัญหาด้านเนื้อหาวิชา บางวิชาเนื้อหามาก และบางวิชามีเนื้อหาเป็น
นามธรรมยากแก่การเข้าใจ จึงจำเป็นจะต้องนำเทคนิคการสอนและสื่อมาช่วย
1.3 ปัญหาเรื่องอุปกรณ์การสอน บางเนื้อหามีสื่อการสอนเป็นจำนวนน้อย
ไม่เพียงพอต่อการนำไปใช้ เพื่อทำให้นักเรียนเกิดความรู้ความเข้าใจในเนื้อหาวิชาได้ง่ายขึ้นจึงจำเป็นต้องมีการพัฒนาคิดค้นหาเทคนิควิธีการสอน และผลิตสื่อการสอนใหม่ ๆ เพื่อนำมาใช้ทำให้การเรียนการสอนบรรลุเป้าหมายได้
2. เพื่อนำนวัตกรรมไปใช้ในการพัฒนาการเรียนการสอน ให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นและเป็นประโยชน์ต่อการศึกษา โดยการนำสิ่งประดิษฐ์หรือแนวความคิดใหม่ ๆ ในการเรียนการสอนนั้นเผยแพร่ไปสู่ครู – อาจารย์ท่านอื่น ๆ หรือเพื่อเป็นตัวอย่างอีกรูปแบบหนึ่งให้กับครู – อาจารย์ที่สอนในวิชาเดียวกัน ได้นำแนวความคิดไปปรับปรุงใช้หรือผลิตสื่อการสอนใหม่ ๆ เพื่อนำมาใช้ในการพัฒนาการเรียนการสอนต่อไป

  ปัจจัยที่สำคัญที่มีอิทธิพลอันมีผลทำให้เกิดนวัตกรรม

1. แนวความคิดพื้นฐานในเรื่องความแตกต่างระหว่างบุคคล (Individual Different)
การจัดการศึกษาของไทยได้ให้ความสำคัญในเรื่องความแตกต่างระหว่างบุคคลเอาไว้อย่างชัดเจน ซึ่งจะเห็นได้จากแผนการศึกษาของชาติ ให้มุ่งจัดการศึกษาตามความถนัดความสนใจ และความสามารถ ของแต่ละคนเป็นเกณฑ์ ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนได้แก่ การจัดระบบห้องเรียนโดยใช้อายุเป็นเกณฑ์บ้าง ใช้ความสามารถเป็นเกณฑ์บ้าง
นวัตกรรมที่เกิดขึ้นเพื่อสนองแนวความคิดพื้นฐานนี้ เช่น
- การเรียนแบบไม่แบ่งชั้น (Non-Graded School)
- แบบเรียนสำเร็จรูป (Programmed Text Book)
- เครื่องสอน (Teaching Machine)
- การสอนเป็นคณะ (TeamTeaching)
- การจัดโรงเรียนในโรงเรียน (School within School)
- เครื่องคอมพิวเตอร์ช่วยสอน (Computer Assisted Instruction)

2. แนวความคิดพื้นฐานในเรื่องความพร้อม (Readiness)
เดิมทีเดียวเชื่อกันว่า เด็กจะเริ่มเรียนได้ก็ต้องมีความพร้อมซึ่งเป็นพัฒนาการตามธรรมชาติ แต่ในปัจจุบันการวิจัยทางด้านจิตวิทยาการเรียนรู้ ชี้ให้เห็นว่าความพร้อมในการเรียนเป็นสิ่งที่สร้างขึ้นได้ ถ้าหากสามารถจัดบทเรียน ให้พอเหมาะกับระดับความสามารถของเด็กแต่ละคน วิชาที่เคยเชื่อกันว่ายาก และไม่เหมาะสมสำหรับเด็กเล็กก็สามารถนำมาให้ศึกษาได้ นวัตกรรมที่ตอบสนองแนวความคิดพื้นฐานนี้ได้แก่ ศูนย์การเรียน การจัดโรงเรียนในโรงเรียน
นวัตกรรมที่สนองแนว ความคิดพื้นฐานด้านนี้ เช่น
- ศูนย์การเรียน (Learning Center)
- การจัดโรงเรียนในโรงเรียน (School within School)
-การปรับปรุงการสอนสามชั้น (Instructional Development in 3 Phases)

3. แนวความคิดพื้นฐานในเรื่องการใช้เวลาเพื่อการศึกษา
แต่เดิมมาการจัดเวลาเพื่อการสอน หรือตารางสอนมักจะจัดโดยอาศัยความสะดวกเป็นเกณฑ์ เช่น ถือหน่วยเวลาเป็นชั่วโมง เท่ากันทุกวิชา ทุกวันนอกจากนั้นก็ยังจัดเวลาเรียนเอาไว้แน่นอนเป็นภาคเรียน เป็นปี ในปัจจุบันได้มีความคิดในการจัดเป็นหน่วยเวลาสอนให้สัมพันธ์กับลักษณะของแต่ละวิชาซึ่งจะใช้เวลาไม่เท่ากัน บางวิชาอาจใช้ช่วงสั้นๆ แต่สอนบ่อยครั้ง การเรียนก็ไม่จำกัดอยู่แต่เฉพาะในโรงเรียนเท่านั้น
นวัตกรรมที่ สนองแนวความคิด เช่น
- การจัดตารางสอนแบบยืดหยุ่น (Flexible Scheduling)
- มหาวิทยาลัยเปิด (Open University)
- แบบเรียนสำเร็จรูป (Programmed Text Book)
- การเรียนทางไปรษณีย์

4. แนวความคิดพื้นฐานในเรื่องการขยายตัวทางวิชาการและอัตราการเพิ่มประชากรการขยายตัวทางวิชาการ และการเปลี่ยนแปลงของสังคม ทำให้มีสิ่งต่างๆ ที่คนจะต้องเรียนรู้เพิ่มขึ้นมาก แต่การจัดระบบการศึกษาในปัจจุบันยังไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอ จึงจำเป็นต้องแสวงหาวิธีการใหม่ที่มีประสิทธิภาพสูงขึ้น ทั้งในด้านปัจจัยเกี่ยวกับตัวผู้เรียน และปัจจัยภายนอก
นวัตกรรมในด้านนี้ที่เกิดขึ้น เช่น
- มหาวิทยาลัยเปิด
- การเรียนทางวิทยุ การเรียนทางโทรทัศน์
- การเรียนทางไปรษณีย์ แบบเรียนสำเร็จรูป
- ชุดการเรียน

Leave a Reply


test

สาระ เนื้อหา เรื่องราว ที่ปรากฎอยู่ในบล็อกแห่งนี้ จัดทำขึ้นเพื่อรวบรวมผลงาน แนวคิด จากการศึกษาเรียนรู้ และประสบการณ์ในการทำงาน รวมถึงการนำมาจากแหล่งข้อมูลอื่น(ซึ่งจะแจ้ง links ต้นทาง) นำมาเผยแพร่ให้กับท่านที่สนใจ ผ่านช่องทางและเวทีบล็อกแห่งนี้ หากท่านต้องการที่จะแนะนำ หรือแสดงความคิดเห็นที่เป็นประโยชน์ในการจัดทำบล็อกความรู้นี้ ติดต่อพูดคุย(ฝากข้อความ) ได้นะครับ
ขอบคุณที่กรุณาเข้าเยี่ยมชม
mediathailand