วันพุธที่ 4 เมษายน พ.ศ. 2555

2.10 แง่คิดเกี่ยวกับนวัตกรรมการศึกษา โดย รศ.ดร.เปรื่อง กุมุท

0 comments
 
แง่คิดเกี่ยวกับนวัตกรรมการศึกษา โดย รศ.ดร.เปรื่อง กุมุท
ความนำ
ในระยะเวลาสองทศวรรษที่ผ่านมานี้ วงการศึกษาของไทยได้เคลื่อนไหวและพยายามนำความคิดและวิธีการใหม่ ๆหรือนวกรรมการศึกษามาใช้เพื่อพัฒนาไปสู่ผลทางการศึกษาที่ดีขึ้น ในบรรดาหลายความคิดและหลายวิธีการเหล่านั้นในเชิงปฏิบัติอาจยังเป็นที่สับสน และเป็นที่น่าสงสัยในแง่ต่าง ๆ อยู่หลายอย่าง เป็นต้นว่า ในขณะนี้มีนวกรรมการศึกษาใดบ้าง ที่เป็นที่ยอมรับและนำไปใช้กันอย่างกว้างขวางและต่อเนื่องส่วนมากระดับการยอมรับนวกรรมยังอยู่ในระดับใด เพราะเหตุใดนวกรรมการศึกษาบางประเภทจึงเป็นที่ยอมรับกันอย่างมั่นคง บางประเภทล้มลุกคลุกคลาน บางประเภทปรากฏเป็นที่ยอมรับกันพักเดียวก็เลิกไปตลอดจนนวกรรมการศึกษาเหล่านั้นมาจากไหน หรือเกิดขึ้นได้อย่างไรดังนั้นจึงขอถือโอกาสนี้อภิปรายแง่คิดเกี่ยวกับนวกรรมการศึกษาเป็นด้าน ๆ ไปดังต่อไปนี้
1. การยอมนับและระดับการยอมรับนวกรรมการศึกษา
นับตั้งแต่ประมาณปี พ.ศ.2519 เป็นต้นมา ได้มีการสำรวจวิจัยประเภทของนวกรรมการศึกษาในประเทศไทยหลายครั้งและหลายระดับการศึกษา รวมทั้งที่ปรากฏเป็นรายงานของสถาบันการศึกษาบางแห่งในการนำนวกรรมการศึกษามาทดลองใช้ในสถาบันของตน ปรากฏว่า มีการใช้นวกรรมการศึกษากันอยู่หลายประเภท ตั้งแต่การจัดหลักสูตรแบบบูรณาการ การสอนเป็นคณะ การใช้ศูนย์การเรียน การสอนแบบสืบสวน การสอนแบบจุลภาค บทเรียนโปรแกรม ชุดการเรียน ไปจนถึงการสอนระบบทางไกล ในบรรดานวกรรมการศึกษาเหล่านั้น บางประเภท บางแห่ง ก็นำมาใช้จนเป็นธรรมดาไปแล้ว บางแห่งก็เลิกใช้ หรือไม่ก็ยังอยู่ในขั้นทดลองและตัดสินใจ บางแห่งก็ต้องการนำมาใช้จริงและแน่นอน ส่วนจะทำได้เพียงใดนั้นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง สิ่งที่น่าสนใจพิจารณาก็คือการยอมรับนวกรรมการศึกษานี้ มีอันดับของการยอมรับด้วย
นวกรรมบางประเภทในสถานศึกษาหรือหน่วยงานการศึกษาบางแห่งหรือบุคคลหรือกลุ่มบุคคลบางส่วน อาจเพียงยอมรับในระดับตื่นตัว สนใจหรือรู้เรื่องในบางแห่งบางส่วนของบุคคลหรือกลุ่มบุคคลอาจยอมรับในระดับการเรียนรู้ ศึกษาแล้วทดลองปฏิบัติ บางแห่งบางส่วน อาจไปถึงขั้นของการนำมาปฏิบัติ และขยายขอบข่ายของการใช้นวกรรมนั้นให้กว้างขวางออกไปมากขึ้นทุกที ดังนั้นในการศึกษาเกี่ยวกับนวกรรมการศึกษาที่มีอยู่ในประเทศไทย
ในโอกาสต่อไปน่าจะได้พิจารณาไม่เพียงแต่ประเภทของนวกรรม และระดับของการศึกษาเท่านั้นน่าจะได้พิจารณาตัวแปรทางด้านระดับของการยอมรับนวกรรมการศึกษานั้น ๆ ด้วย

2. องค์ประกอบในการยอมรับนวกรรมการศึกษา
ตามที่กล่าวมาแล้วในความนำว่า นวกรรมการศึกษาบางประเภทในสถาบันและหน่วยงานการศึกษาบางแห่ง และโดยบุคคล หรือกลุ่มบุคคล บางส่วนมีการยอมรับในระดับของการนำไปใช้อย่างมั่นคง แต่ในบางแห่งและโดยบุคคลและกลุ่มบุคคล บางส่วนนวกรรมการศึกษานั้น กลับได้รับการปฏิเสธหรือไม่ก็มีอุปสรรค ไม่อาจดำเนินไปได้อย่างราบรื่น บางประเภทบางแห่งและโดยบุคคลบางส่วนยอมรับกันเพียงระยะสั้น ๆ แล้วก็ล้มเลิกไป จึงน่าจะได้ศึกษากันให้เห็นประจักษ์ว่าการยอมรับหรือปฏิเสธนวกรรมการศึกษาเกิดจากองค์ประกอบอะไร ตามความเป็นจริงการศึกษาทำนองนี้ จำเป็นที่จะต้องเอาหลักวิชาเข้ามาจับก่อน โดยศึกษาตัวแปรที่จะมีผลต่อการยอมรับหรือไม่ยอมรับนวกรรมการศึกษา โดยทั่วไปก่อน เป็นต้นว่า
- การสนองต่อจุดมุ่งหมายในการพัฒนาและการแก้ปัญหาการศึกษาและการเรียนการสอน
- ตัวแปรเกี่ยวกับ 4-M
- ความก้าวหน้าและพัฒนาการทางวิชาการและเทคโนโลยี
- สภาพทางเศรษฐกิจและสังคม
- ความยุ่งยากของนวกรรมการศึกษานั้นเอง
- การสนับสนุนของฝ่ายบริหาร
- เจตคติของบุคลากรที่เกี่ยวข้อง
- ความสามารถและความตั้งใจของผู้เกี่ยวข้องกับการนำไปใช้และอื่น ๆ
เมื่อตั้งตัวแปรอะไรก็สุดแล้วแต่จะเห็นเหมาะสมแล้วก็สามารถที่จะนำไปศึกษาในเชิงของกรณีศึกษา หรือการสำรวจในระดับกว้าง เพื่อให้ได้ภาพในเรื่องนี้โดยรวมชัดขึ้น ผลของการทำเช่นนี้จะทำให้ไม่เพียงพอแต่เราจะเห็นภาพของตัวแปร ที่ส่งผลต่อการยอมรับนวกรรมการศึกษาได้ชัดเจนขึ้นเท่านั้น ยังสามารถนำมาใช้เป็นแนวทางในการส่งเสริมการยอมรับในระดับสูงและทำให้เป็นจริงขึ้นมาได้ในอนาคต

3. การเกิด การเผยแพร่ และการยอมรับนวกรรมการศึกษา
ในบางเวลาเราเคยหยุดและคิดกันบ้างหรือไม่ว่า ความคิด และการกระทำใหม่ ๆทางการศึกษาบางอย่างนั้น หรือที่ใช้ หรือทดลองใช้อยู่นั้นมาจากไหน มาได้อย่างไร และทำไมจึงนำเอามาใช้ หรือนำมาทดลองใช้กันขึ้น แน่นอนนวกรรมการศึกษาแต่ละอย่าง จะต้องมีที่มารวมทั้งมีขั้นตอนของการเผยแพร่ออกไป และได้รับการยอมรับขึ้นในที่สุด สิ่งที่น่าจับตาดูหรือให้ความสนใจเกี่ยวกับเรื่องนี้ ก็คือ กลุ่มบุคคล 3 ฝ่าย อันได้แก่ (1)นวกร (2)ผู้บริหารและ(3)ผู้ปฏิบัตินวกร อาจหมายรวมถึงบุคคลที่ประดิษฐ์คิดค้นเครื่องมือและวิธีการใหม่ๆ ทางการศึกษาขึ้นเองซึ่งมักเป็นเทคโนโลยีการศึกษาเมื่อคิดขึ้นได้แล้วก็ทดลอง และพัฒนาให้มีคุณภาพและประสิทธิภาพดีขึ้น หรือได้มาตรฐานแล้วก็เผยแพร่ออกไป เช่นคิดวิธีจัดห้องเรียนแบบศูนย์การเรียน คิดวิธีสอนจริยธรรมแบบเบญจขันธ์ เป็นต้นหรือหมายถึง หน่วยงาน เช่น โครงการส่งเสริมสมรรถภาพการสอน (RIT) และสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (ส.ส.ว.ท.)ได้คิดวิธีใหม่ๆ ทางการเรียนด้วยตนเองหลายรูปแบบ และวิธีการสอนวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ขึ้น ทดลองและพัฒนาจนได้มาตรฐานแล้วเผยแพร่ออกไปนวกรการศึกษาบางท่านหรือบางกลุ่ม อาจได้แก่ ผู้ที่ศึกษาวิธีการใหม่ๆ มาจากการศึกษาเล่าเรียนหรือจากการอบรมแล้วนำมาเผยแพร่หรือนำมาดัดแปลง ทดลองแล้วเผยแพร่ต่อไป บางท่านอาจเป็นครูอาจารย์ที่เชี่ยวชาญ มีหน้าที่ต้องสอน อบรมเกี่ยวกับนวกรรมการศึกษา แก่นิสิตนักศึกษาอยู่แล้ว ก็สอนและอบรม และสนับสนุนให้มีการค้นคว้าวิจัยเพิ่มเติมหรือไม่ก็เป็นวิทยากรในเรื่องเหล่านี้ให้แก่ผู้อื่นที่ต้องการนำไปใช้ นวกรการศึกษาบางกลุ่มอาจได้แก่ผู้ที่ทำงานอยู่ และได้คิดค้นวิธีการใหม่ ๆจนกลายเป็นผู้เชี่ยวชาญในเรื่องนั้น ๆ และพยายามเผยแพร่วิธีการใหม่ ๆ เหล่านั้น จากประสบการณ์ของตนต่อไป ถ้าหากจะกล่าวรวม ๆ แล้วนวกรการศึกษามักจะเป็นผู้ที่ คิด-รู้-เล่นเกี่ยวกับเครื่องมือและวิธีการใหม่ๆ ทางการศึกษา และพยายามเผยแพร่สิ่งใหม่ ๆ นั้นต่อไป แต่สิ่งที่น่าจะได้ศึกษาให้ละเอียดในเรื่องนี้ก็คือกลุ่มไหนหรือนวกรรมประเภทใดที่กล่าวมาแล้วข้างต้น เป็นกลุ่มที่มีอิทธิพลต่อการนำนวกรรมไปใช้มากที่สุด เพราะในการวางแผนเพื่อพัฒนา อิทธิพลทางด้านนี้จะสามารถทำได้ถูกจุดที่สุดผู้บริหาร การนำนวกรรมการศึกษาไปใช้จะต่อเนื่อง มั่นคงหรือไม่เพียงใด เรามักจะพบว่าส่วนหนึ่งขึ้นอยู่กับ บารมีที่ได้รับจากผู้บริหาร หน่วยงานการศึกษาเริ่มตั้งแต่ความที่ท่านเหล่านั้นมีเจตคติที่ดีต่อนวกรรมการศึกษา ความเป็นผู้นำหรือผู้บุกเบิกวางแผนการใช้ไปจนถึงการให้สนับสนุน และอิสระแก่ผู้ปฏิบัติ หรือแก่การทดลองอย่างเพียงพอและต่อเนื่อง เพราะมิฉะนั้นแล้ว จะทำให้การปฏิบัติการใหม่ ๆ ต้องล้มลุกคลุกคลานหรือล้มเหลวเสียกลางคันเมื่อเป็นเช่นนี้

เราจึงน่าจะให้ความสำคัญต่อคุณลักษณะทางผู้บริหาร ในฐานะตัวแปรเกี่ยวกับการยอมรับนวกรรมการศึกษาได้อีกทางหนึ่ง และในบรรดาตัวแปรเหล่านั้น ตัวแปรใดมีผลต่อการงอกงามในการนำนวกรรมการศึกษาไปใช้มากน้อยอย่างไรผู้ปฏิบัติ นวกรรมการศึกษาจะมีผลต่อการศึกษาในด้านคุณภาพและการแก้ปัญหาเพียงใดหรือไม่นั้น ต้องอาศัยว่ามีผู้ยอมรับและนำเครื่องมือและวิธีการใหม่ ๆ ทางการศึกษาเหล่านั้นไปใช้ ผู้ปฏิบัติในที่นี้ก็คือบุคคลที่เป็นผู้รับ ผู้ใช้ และผู้สืบทอดความคิดและวิธีการใหม่ ๆ ที่นวกรรมและผู้บริการเผยแพร่ และสนับสนุนให้กระทำทว่า มีสิ่งที่น่าสังเกตก็คือ ความคิด และวิธีปฏิบัติใหม่ ๆ ซึ่งถูกถ่ายทอดมาจากฝ่ายนวกรและผู้บริหารอย่างดีแล้ว กลับมาล้มเหลวตรงที่ผู้นำมาปฏิบัติ หรือตรงผู้ใช้นี่เอง เพราะเหตุใดเพราะอาจมีตัวแปรเกี่ยวกับผู้ปฏิบัติหลายประการ ซึ่งเรายังไม่ได้ศึกษากันอย่างแท้จริงโดยรวมหรือเป็นกรณี ๆ ไปที่ส่งผลเป็นเช่นนั้น เป็นต้นว่า เจตคติที่เขามีต่อการปฏิบัติหรือวิธีการใหม่ ๆ นั้น ความตั้งใจและความสามารถที่เขามีตลอดจนความเข้าใจในนวกรรมการศึกษาอย่างแจ่มแจ้งของเขาด้วยความเป็นไปได้ ความมั่นคงและความต่อเนื่องของการยอมรับและนำนวัตกรรมการศึกษาใด ๆ ไปใช้น่าจะขึ้นอยู่กับวัฏจักรหรือปฏิสัมพันธ์ของทีมกระบวนการนวกรรม ซึ่งประกอบด้วย กลุ่มบุคคลสามฝ่ายที่ได้กล่าวมาแล้ว และตัวแปรของแต่ละฝ่ายเหล่านั้น การเกิดขึ้น การเผยแพร และการยอมรับ อาจเริ่มจากนวกรการศึกษาไปยังผู้ปฏิบัติโดยตรง หรือผ่านไปทางผู้บริหารจึงไปถึงผู้ปฏิบัติก็ได้หรือผู้บริหารเป็นผู้ริเริ่ม และเป็นตัวกลางให้ผู้ปฏิบัติพบกับนวกรการศึกษา เพื่อก่อให้เกิดการนำเอาความคิดและวิธีการใหม่ ๆ ที่ต้องการมาใช้ก็ได้ในเรื่องนี้น่าจะเป็นสิ่งที่ควรจะค้นหาให้พบจากกรณีที่เกิดขึ้นทั้งหลายทางนวกรรมการศึกษา ว่าวงจรใดที่มีผลทางบวกต่อการยอมรับนวกรรมการศึกษาที่ได้ผล และการค้นพบในเรื่องนี้จะนำไปสู่การวางแผนที่เหมาะสมของการเผยแพร่นวกรรมการศึกษาต่อไป

มีแง่คิดที่น่าสังเกตอีกอย่างหนึ่ง เกี่ยวกับการขยายผลของการนำนวกรรมการศึกษาไปใช้ให้กว้างขวางและต่อเนื่อง ซึ่งส่วนมากดูเหมือนว่าไม่เป็นไปตามที่ต้องการ เช่นการอบรมวิธีการเขียนบทเรียนโปรแกรมให้แก่ครูของเขตการศึกษา บางวิชา บางระดับโดยหวังว่าเมื่อเขียนบทเรียนแล้วครูเหล่านั้นคงจะผลิตบทเรียนโปรแกรมขึ้นใช้กันต่อไป หรือวิทยาลัยครูจัดการอบรมการสร้างชุดการเรียนวิชาต่าง ๆ แก่อาจารย์ที่สอนวิชาเหล่านั้นและหวังเช่นเดียว แต่ปรากฏภายหลังว่า จากจำนวนผู้ที่เคยเข้ารับการอบรมไปแล้วทั้งหมด จะมีเพียงไม่กี่คนที่นำไปทำ และนำไปใช้ ด้วยเหตุผลต่าง ๆ ของการหยุดชะงัก ทำให้น่าคิดว่า ผู้ผลิตกับผู้ใช้น่าจะเป็นคนละพวกกันมากกว่าเป็นคนกลุ่มเดียวกัน หรือคน ๆเดียวกัน ผู้ใช้ซึ่งแน่ละมีอยู่จำนวนมาก เป็นผู้ที่รอผลิตผลจากผู้ผลิต

ดังนั้นผู้เข้ารับการอบรมเกี่ยวกับนวกรรมการศึกษาอย่างน้อยควรจะสังกัดหน่วยงานผลิตและบริการ ซึ่งมีโครงการต่อเนื่องรองรับ หน่วยงานนี้อาจเป็นศูนย์ซึ่งมีหน้าที่คิด ทดลอง และผลิตก่อนที่จะนำไปเผยแพร่แก่ผู้ใช้ด้วยการอบรมวิธีการใช้นวกรรมการศึกษานั้นแก่เขา ดังนั้นแทนที่ผู้ใช้จะเป็นผู้ผลิตและใช้นวกรรมการศึกษาเอง ซึ่งไม่น่าจะเป็นไปได้ ก็เป็นเพียงรับการถ่ายทอดนวกรรมเพื่อใช้อย่างเดียว เท่านี้ก็พอแล้วและคิดว่านี่เป็นวิถีทางของการแพร่ขยายที่ได้ผลกว่าสรุปแล้วก็คือเส้นทาง หรือขั้นตอนของการเผยแพร่และการดำเนินการแพร่ขยายการใช้นวกรรมการศึกษาให้ได้ผลนั้น ต้องพิจารณาว่า ควรจะทำกับใคร และอย่างไรจึงจะมีผลทางการปฏิบัติที่ต่อเนื่อง และกว้างขวาง จากแง่คิดเกี่ยวกับนวกรรมการศึกษาที่ได้กล่าวมาแล้วทั้งหมดข้างต้น ทั้งในด้านที่เกี่ยวกับการยอมรับ และระดับของการยอมรับก็ดี องค์ประกอบที่จะส่งผลต่อการยอมรับหรือไม่ยอมรับก็คือ วัฏจักร หรือ วงจรของกระบวนการนวกรรมตลอดจนการขยายผลในการใช้นวกรรมการศึกษาก็ดี จะเห็นว่ามีล้มเหลวอยู่หลายประการ และดูเหมือนจะมองเห็นกันอยู่ แต่ถ้าต้องการคำตอบไปใช้ขึ้นอยู่กับตัวแปรใดมากน้อยอย่างไร แล้วกลับเห็นไม่ค่อยชัด คงจะต้องให้ชัดแจ้งกันต่อไป ในประเด็นต่าง ๆ ที่กล่าวไว้ข้างต้นและหวังว่าถ้าทำและทำได้สำเร็จผลของการค้นพบจะสามารถนำมาเป็นข้อมูลสำหรับวางแผน ดำเนินการพัฒนางานด้านนวกรรมการศึกษาได้รัดกุม และมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นกว่าที่เป็นมาและเป็นอยู่ในขณะนี้

หมายเหตุ
สำหรับในบทความนี้ ท่าน รศ.ดร.เปรื่อง กุมุท ได้ใช้คำว่า นวกรรม แทน นวัตกรรม
ซึ่งคำว่า นวกรรม ก็มีความหมายเช่นเดียวกับ นวัตกรรม อันหมายถึง การทำให้ใหม่

Leave a Reply


test

สาระ เนื้อหา เรื่องราว ที่ปรากฎอยู่ในบล็อกแห่งนี้ จัดทำขึ้นเพื่อรวบรวมผลงาน แนวคิด จากการศึกษาเรียนรู้ และประสบการณ์ในการทำงาน รวมถึงการนำมาจากแหล่งข้อมูลอื่น(ซึ่งจะแจ้ง links ต้นทาง) นำมาเผยแพร่ให้กับท่านที่สนใจ ผ่านช่องทางและเวทีบล็อกแห่งนี้ หากท่านต้องการที่จะแนะนำ หรือแสดงความคิดเห็นที่เป็นประโยชน์ในการจัดทำบล็อกความรู้นี้ ติดต่อพูดคุย(ฝากข้อความ) ได้นะครับ
ขอบคุณที่กรุณาเข้าเยี่ยมชม
mediathailand