วันเสาร์ที่ 16 มิถุนายน พ.ศ. 2555

9.2 การออกแบบสื่อสิ่งพิมพ์และเอกสารอิเล็กทรอนิกส์

0 comments
 

ก่อนที่จะศึกษาถึงการออกแบบสื่อสิ่งพิมพ์ รวมถึงเอกสารอิเล็กทรอนิกส์ ว่ามีความหมาย หรือความแตกต่างอย่างไร เรามาเรียนรู้ลักษณะเฉพาะ ของสื่อ แต่ละประเภทกันก่อน


 สื่อสิ่งพิมพ์
 "สื่อสิ่งพิมพ์"
มีความหมายว่า "สิ่งที่พิมพ์ขึ้น ไม่ว่าจะเป็นแผ่นกระดาษหรือวัตถุใดๆ ด้วยวิธีการต่างๆ อันเกิดเป็นชิ้นงานที่มีลักษณะเหมือน ต้นฉบับขึ้นหลายสำเนาในปริมาณมากเพื่อเป็นสิ่งที่ทำการติดต่อ หรือชักนำให้ผู้อื่นได้เห็นหรือทราบ ข้อความต่างๆ"
"สื่อสิ่งพิมพ์"
พระราชบัญญัติการพิมพ์ พ.ศ. 2484 ได้ให้ความหมายไว้ว่า สิ่งพิมพ์ หมายถึง สมุด แผ่นกระดาษ หรือวัตถุใด ๆ ที่พิมพ์ขึ้น รวมตลอดทั้งบทเพลง แผนที่ แผนผัง แผนภาพ ภาพระบายสี ใบประกาศ แผ่นเสียง หรือสิ่งอื่นใดอันมีลักษณะเช่นเดียวกัน
"สื่อสิ่งพิมพ์"
คือ สื่อที่ใช้การพิมพ์เป็นหลักเพื่อติดต่อสื่อสาร  ทำความเข้าใจกันด้วยภาษาเขียนโดยใช้วัสดุกระดาษหรือวัสดุอื่นใดที่พิมพ์ได้หลายสำเนา  เช่น ผ้า แผ่นพลาสติก

 ความสำคัญของสื่อสิ่งพิมพ์

สิ่งพิมพ์ในสังคมไทยมีหลายแบบหลายลักษณะ มีทั้งที่พิมพ์ในวงจำกัดและที่พิมพ์แพร่หลายทั่วไป ตามความต้องการของสังคมและจุดมุ่งหมายของผู้ผลิต ยิ่งในอนาคตอันใกล้นี้ประเทศไทยกำลังก้าวสู่การเป็นประเทศในกลุ่มอุตสาหกรรม ทำให้ประชาชนมีความต้องการที่จะรับรู้ข่าวสารที่ดี ที่ถูกต้อง กว้างขวางและมีประสิทธิภาพ ในบรรดาสื่อต่าง ๆ ที่นำเสนอข้อมูลในปัจจุบันสื่อสิ่งพิมพ์นับเป็นสื่อที่สำคัญสิ่งหนึ่งที่สามารถตอบสนองความต้องการเหล่านั้นได้
บทบาทของสื่อสิ่งพิมพ์

          สื่อสิ่งพิมพ์เปรียบเสมือนสื่อกลางหรือกระจกสะท้อนให้เห็นลักษณะต่างๆ ของสังคมบ้านเมือง หรือของประเทศนั้นๆ ไม่ว่าจะเป็นการเมือง เศรษฐกิจ สังคมประเพณีและวัฒนธรรม  โดยทำหน้าที่และบทบาท ในการถ่ายทอดข่าวสาร ข้อมูล การนำเสนอ แสดงความคิดเห็นต่างๆ ดังนั้นบทบาทของสื่อสิ่งพิมพ์ ก็คือ การกระทำ หรือการสื่อสารของสื่อสิ่งพิมพ์ที่ได้ส่งผลกำลังส่งผล หรือจะส่งผลต่อชีวิตและสังคม

หน้าที่ของสื่อสิ่งพิมพ์
    1. ให้ข่าวสารและรายงานความเคลื่อนไหวของเหตุการณ์ต่างๆ
    2. เป็นแหล่งกลางในการนำเสนอความคิดเห็นหรือข้อโต้แย้งต่อปัญหาที่เกิดขึ้นในสังคม
    3. ให้สาระและความบันเทิง
    4. ให้ความรู้ทางการศึกษาและบำรุงศิลปวัฒนธรรมของชาติ
    5. ให้บริการด้านธุรกิจการค้า

บทบาทของสื่อสิ่งพิมพ์
สื่อสิ่งพิมพ์มีบทบาท ดังต่อไปนี้
  1. บทบาทของสื่อสิ่งพิมพ์ในงานสื่อมวลชน
    สื่อสิ่งพิมพ์มีความสำคัญในด้านการนำเสนอข้อมูลข่าวสาร สาระ และความบันเทิง ซึ่งเมื่องานสื่อมวลชนต้องเผยแพร่ จึงต้องผลิตสื่อสิ่งพิมพ์ เช่น หนังสือพิมพ์, วารสาร, นิตยสาร เป็นต้น
  2. บทบาทของสื่อสิ่งพิมพ์ในสถานศึกษา
    สื่อสิ่งพิมพ์ถูกนำไปใช้ในสถานศึกษาโดยทั่วไป ซึ่งทำให้ผู้เรียน ผู้สอนเข้าใจในเนื้อหามากขึ้น เช่น หนังสือ ตำรา แบบเรียน แบบฝึกหัดสามารถพัฒนาได้เป็นเนื้อหาในระบบ เครือข่ายอินเตอร์เน็ตได้
  3. บทบาทของสื่อสิ่งพิมพ์ในงานด้านธุรกิจ
    สื่อสิ่งพิมพ์ที่ถูกนำไปใช้ในงานธุรกิจประเภทต่าง ๆ เช่น งานโฆษณา ได้แก่ การผลิต หัวจดหมาย/ซองจดหมาย, ใบเสร็จรับเงิน/ใบส่งของ, โฆษณาหน้าเดียว, นามบัตร เป็นต้น
  4. บทบาทของสื่อสิ่งพิมพ์ในงานธนาคาร
    งานด้านการธนาคาร ซึ่งรวมถึง งานการเงินและงานที่เกี่ยวกับ หลักฐานทางกฎหมาย ได้นำสื่อสิ่งพิมพ์หลาย ๆ ประเภทมาใช้ในการดำเนินงาน เช่น ใบนำฝาก, ใบถอน, ธนบัตร, เช็คธนาคาร, ตั๋วแลกเงิน และหนังสือเดินทาง
  5. บทบาทของสื่อสิ่งพิมพ์ในห้างสรรพสินค้า และร้านค้าปลีก
    สื่อสิ่งพิมพ์ที่ทางห้างสรรพสินค้าหรือร้านค้า ปลีกใช้ในการดำเนินธุรกิจ ได้แก่ ใบปิดโฆษณาต่าง ๆ ใบปลิว, แผ่นพับ, จุลสาร
 
สื่อสิ่งพิมพ์มีลักษณะพิเศษหลายประการทำให้สื่อสิ่งพิมพ์ ยังคงเป็นสื่อที่มีความสำคัญอย่างมากในปัจจุบัน แม้มีผู้ตั้งข้อสังเกตว่าการใช้สื่อสิ่งพิมพ์จะลดน้อยลง และจะหายไปจากบรรณพิภพ เนื่องจากเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์โดยเฉพาะสื่ออินเทอร์เน็ตจะเข้ามาแทนที่ อย่างไรก็ตาม ข้อสังเกตข้างต้นยังไม่เป็นความจริงในเวลา นี้เพราะ ข้อจำกัดในการเข้าถึงเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ของสังคมไทย ในที่นี้จะขอกล่าวถึงลักษณะพิเศษของสื่อสิ่งพิมพ์ที่ทำให้สื่อสิ่งพิมพ์ยังมีความสำคัญอยู่เวลานี้
สิ่งพิมพ์ เป็นสิ่งที่มีราคาถูก เมื่อเปรียบเทียบกับสื่อมวลชนประเภทอื่น ๆ

แนะนำโปรแกรมสร้างงานสื่อสิ่งพิมพ์
1. Adobe Indesign
ของค่าย Adobe ซึ่งโปรแกรมนี้ถือเป็นโปรแกรมสร้างสื่อเอกสารที่สมบูรณ์ที่สุดพัฒนาต่อมาจาก Adobe PageMaker ถือได้ว่าเป็นโปรแกรมในการทำงานสื่อเอกสารอิเล็กทรอนิกส์ และสื่อสิ่งพิมพ์ เกือบทุกประเภทที่ดี ที่สุดอีกโปรแกรมในปัจจุบัน
2. MicroSoft Word
ของไมโครซอฟท์ ที่มีผู้ใช้งานด้านเอกสารค่อนข้างมากที่สุด เป็นโปรแกรมสำหรับจัดทำเอกสารพื้นฐานที่ดี ที่สุดโปรแกรมหนึ่ง
3. Adobe PageMaker
ของค่าย Adobe ซึ่งโปรแกรมนี้ถือเป็นโปรแกรมที่สร้างชื่อให้กับ Adobe ในการพัฒนาสื่อเอกสาร และสื่อหนังสืออิเล็กทรอนิกส์ ระดับโรงพิมพ์ มีจุดเด่นรองรับการทำงานที่สมบูรณ์ แม้ว่าปัจจุบัน ไม่ได้รับการพัฒนาต่อเนื่องจาก Adobe ได้ เข็นเอา Adobe Indesign เข้ามาแทนที่
4. MicroSoft Publisher
ของไมโครซอฟท์ อีกโปรแกรมหนึ่งที่ถูกพัฒนามาเพื่องานการพิมพ์โดยเฉพาะ ด้วยเครื่องมือ และแม่แบบ หลากหลายประเภท ทำให้ สามารถสร้างสรร สื่องานการพิมพ์ได้หลายชนิด ตั้งแต่นามบัตรขนาดเล็ก ไปจนถึงออกแบบสื่อเอกสาร โปสเตอร์ขนาดใหญ่

นอกจากนี้ ก็ยังมีโปรแกรมอื่นๆ อีกหลายโปรแกรม อาทิ Design & Print Business Edition, PagePlus, Print Artist Platinum, PrintMaster เป็นต้น

หากเป็นการแปรสภาพเป็นไฟล์ข้อมูลสื่อเอกสารอิเล็กทรอนิกส์ PDF ก็จำเป็นต้องใช้โปรแกรมออกแบบและ/หรือแปลงไฟล์ข้อมูลเป็นเอกสาร PDF ด้วย อาทิ
Adobe Acrobat
ซึ่งโปรแกรมนี้ ถือเป็นต้นกำเนิดแห่งไฟลื PDF เลยทีเดียว ซึ่งปัจจุบัน พัฒนาไปสู่ PDF แบบ 3 มิติด้วย

                 
ดูตัวอย่างไฟล์ PDF 3D (ท่านต้องมีโปรแกรม Acrobat Reader อยู่ในเครื่องด้วย)

ลักษณะและประเภทของสื่อสิ่งพิมพ์
วิวัฒนาการของสื่อสิ่งพิมพ์มียาวนาน มีหลากหลายประเภท หลากหลายรูปแบบ พอจะสรุปได้ดังนี้

สื่อสิ่งพิมพ์ประเภทหนังสือ
  • หนังสือสารคดี ตำรา แบบเรียน
    เป็นสื่อสิ่งพิมพ์ที่แสดงเนื้อหาวิชาการในศาสตร์ความรู้ต่าง ๆ เพื่อสื่อให้ผู้อ่าน เข้าใจความหมาย ด้วยความรู้ที่เป็นจริง จึงเป็นสื่อสิ่งพิมพ์ที่เน้นความรู้อย่างถูกต้อง
  • หนังสือบันเทิงคดี
    เป็นสื่อสิ่งพิมพ์ที่ผลิตขึ้นโดยใช้เรื่องราวสมมติ เพื่อให้ผู้อ่านได้รับความ เพลิดเพลิน สนุกสนาน มักมีขนาดเล็ก เรียกว่า หนังสือฉบับกระเป๋า หรือ Pocket Book ได้


สื่อสิ่งพิมพ์เพื่อเผยแพร่ข่าวสาร
  • หนังสือพิมพ์ (Newspapers)
    เป็นสื่อสิ่งพิมพ์ที่ผลิตขึ้นโดยนำเสนอเรื่องราว ข่าวสารภาพและความคิดเห็น ในลักษณะของแผ่นพิมพ์ แผ่นใหญ่ ที่ใช้วิธีการพับรวมกัน ซึ่งสื่อสิ่งพิมพ์ชนิดนี้ ได้พิมพ์ออกเผยแพร่ทั้งลักษณะ หนังสือพิมพ์รายวัน, รายสัปดาห์ และรายเดือน
  • วารสาร, นิตยสาร
    เป็นสื่อสิ่งพิมพ์ที่ผลิตขึ้นโดยนำเสนอสาระ ข่าว ความบันเทิง ที่มีรูปแบบการนำเสนอ ที่โดดเด่น สะดุดตา และสร้างความสนใจให้กับผู้อ่าน ทั้งนี้การผลิตนั้น มีการ กำหนดระยะเวลาการออกเผยแพร่ที่แน่นอน ทั้งลักษณะวารสาร, นิตยสารรายปักษ์ (15 วัน) และ รายเดือน
  • จุลสาร
    เป็นสื่อสิ่งพิมพ์ที่ผลิตขึ้นแบบไม่มุ่งหวังผลกำไร เป็นแบบให้เปล่าโดยให้ผู้อ่านได้ศึกษาหาความรู้ มีกำหนดการออกเผยแพร่เป็นครั้ง ๆ หรือลำดับต่าง ๆ ในวาระพิเศษ

สิ่งพิมพ์โฆษณา
ลักษณะของสื่อสิ่งพิมพืเพื่อการโฆษณา มีอยุ่หลากหลาย อาทิ
  • โบร์ชัวร์ (Brochure)
    เป็นสื่อสิ่งพิมพ์ที่มีลักษณะเป็นสมุดเล่มเล็ก ๆ เย็บติดกันเป็นเล่ม จำนวน 8 หน้าเป็น อย่างน้อย มีปกหน้าและปกหลัง ซึ่งในการแสดงเนื้อหาจะเกี่ยวกับโฆษณาสินค้า
  • ใบปลิว (Leaflet, Handbill)
    เป็นสื่อสิ่งพิมพ์ใบเดียว ที่เน้นการประกาศหรือโฆษณา มักมีขนาด A4 เพื่อง่ายในการแจกจ่าย ลักษณะการแสดงเนื้อหาเป็นข้อความที่ผู้อ่าน อ่านแล้วเข้าใจง่าย
  • แผ่นพับ (Folder)
    เป็นสื่อสิ่งพิมพ์ที่ผลิตโดยเน้นการนำเสนอเนื้อหา ซึ่งเนื้อหาที่นำเสนอนั้น เป็นเนื้อหา ที่สรุปใจความสำคัญ ลักษณะมีการพับเป็นรูปเล่มต่าง ๆ
  • ใบปิด (Poster)
    เป็นสื่อสิ่งพิมพ์โฆษณา โดยใช้ปิดตามสถานที่ต่าง ๆ มีขนาดใหญ่เป็นพิเศษ ซึ่งเน้นการนำเสนออย่างโดดเด่น ดึงดูดความสนใจ 

สิ่งพิมพ์เพื่อการบรรจุภัณฑ์
เป็นสื่อสิ่งพิมพ์ที่ใช้ในการห่อหุ้มผลิตภัณฑ์การค้าต่าง ๆ แยกเป็น
สิ่งพิมพ์หลัก ได้แก่ สิ่งพิมพ์ที่ฉลากสินค้าใช้ปิดรอบขวด หรือ กระป๋องผลิตภัณฑ์การค้า


สิ่งพิมพ์รอง ได้แก่ สิ่งพิมพ์ที่เป็นกล่องบรรจุ หรือลัง

สิ่งพิมพ์มีค่า
เป็นสื่อสิ่งพิมพ์ที่เน้นการนำไปใช้เป็นหลักฐานสำคัญต่าง ๆ โดยมีข้อกำหนดหรือการรับรองตามกฎหมาย เช่น ธนบัตร, ธนาณัติ, บัตรเครดิต, เช็คธนาคาร, ตั๋วแลกเงิน, หนังสือเดินทาง, โฉนด เป็นต้น

สิ่งพิมพ์ลักษณะพิเศษ
เป็นสื่อสิ่งพิมพ์มีการผลิตขึ้นตามลักษณะพิเศษแล้วแต่การใช้งาน ได้แก่ นามบัตร, บัตรอวยพร, ปฏิทิน,บัตรเชิญ, ใบส่งของ, ใบเสร็จรับเงิน, สิ่งพิมพ์บนแก้ว, สิ่งพิมพ์บนผ้า เป็นต้น


 
เอกสารอิเล็กทรอนิกส์

 "เอกสารอิเล็กทรอนิกส์" เป็นการนำเอาเทคโนโลยีใหม่มาใช้ช่วยให้การปฏิบัติงาน ให้มีประสิทธิภาพมีความคล่องตัวสะดวกรวดเร็วมากขึ้น โดยการนำเอาอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์คอมพิวเตอร์มาใช้ในการจัดทำ การเก็บรักษา การส่งข้อมูลการติดต่อสื่อสารในสำนักงาน ทั้งยังเป็นการลดปริมาณกระดาษลงสามารถสื่อสารผ่านทางจอคอมพิวเตอร์ได้อย่างรวดเร็ว การจัดเก็บเอกสาร สามารถนำเอาเครื่องมือเครื่องใช้ในการจัดเก็บ มาช่วยให้การจัดเก็บมีประสิทธิภาพมากขึ้นค้นหาได้ง่าย และประหยัดพื้นที่ในการจัดเก็บข้อมูล ซึ่งทำให้ได้ข้อมูลที่รวดเร็วทันต่อความต้องการ ข้อมูลมีความถูกต้องมากขึ้น ประหยัดค่าใช้จ่ายในระยะยาว และลดเวลาในการทำงานและเพิ่มประสิทธิภาพในการติดต่อสื่อสาร
ลักษณะและประเภทของเอกสารอิเล็กทรอนิกส์

ลักษณะของเอกสารอิเล็กทรอนิกส์ รูปแบบโดยรวมถือว่าเป็นไฟล์ข้อมูลที่ถูกเขียน และบันทึกผ่านระบบคอมพิวเตอร์ อันได้แก่ ไฟล์เอกสาร นามสกุล .txt, .rtf, ไฟล์เอกสารจากชุดโปรแกรม Microsoft Office หรือไฟล์เอกสาร .pdf
นอกจากนี้เอกสารหรือหนังสืออิเล็กทรอนิกส์ยังมีลักษณะเฉพาะที่สำคัญดังนี้
  1. สามารถย้อนกลับเพื่อทบทวนหากไม่เข้าใจ และสามารถเลือกอ่านได้ตามเวลาและสถานที่ที่ตนเองสะดวก
  2. การตอบสนองที่รวดเร็วของคอมพิวเตอร์ที่ให้ทั้งสีสัน ภาพ และเสียง ทำให้เกิดความตื่นเต้นและไม่เบื่อหน่าย
  3. ช่วยลดค่าใช้จ่าย และลดการใช้ทรัพยากรธรรมชาติ
  4. สามารถทำสำเนาได้อย่างสะดวกทั้งสำเนาในรูปเอกสารและสำเนาลงในแผ่นซีดีรอม หรือสำเนาลงในฮาร์ดดิสก์
  5. ผู้อ่านสามารถเลือกอ่านหัวข้อที่ตนสนใจข้อใดก่อนก็ได้ และสามารถย้อนกลับไปกลับมาในเอกสารหรือกลับมาเริ่มต้นที่จุดเริ่มต้นใหม่ได้อย่างสะดวกและรวดเร็ว
  6. สามารถแสดงทั้งข้อความ ภาพนิ่ง ภาพเคลื่อนไหว และเสียงได้พร้อมกันหรือจะเลือกให้แสดงเพียงอย่างใดอย่างหนึ่งก็ได้
  7. สะดวกในการจัดเก็บข้อมูล สามารถเชื่อมโยง ข้อมูลจากสื่อต่าง ๆ ทั้งตัวอักษร ภาพนิ่ง ภาพ เคลื่อนไหว และเสียงที่อยู่คนละที่เข้าด้วยกัน นอกจากนั้น ยังสามารถปรับเปลี่ยน แก้ไขและเพิ่มเติมข้อมูลได้ง่าย สะดวก และรวดเร็ว ทำให้สามารถปรับปรุงหนังสือให้ทันสมัยกับเหตุการณ์ ได้เป็นอย่างดี
  8. ผู้อ่านสามารถค้นหาข้อมูลที่เกี่ยวข้องกันกับเรื่องที่กำลังศึกษาจากไฟล์เอกสาร อื่น ๆ ที่เชื่อมโยงอยู่ได้อย่างไม่จำกัดจากทั่วโลก
ความแตกต่างของหนังสืออิเล็กทรอนิกส์ (e-Book) กับหนังสือทั่วไป
ความแตกต่างของหนังสือทั้งสองประเภทจะอยู่ที่รูปแบบของการสร้าง การผลิตและการใช้งาน เช่น

หนัวสือทั่วไป หนังสืออิเล็กทรอนิกส์
1.ลักษณะกายภาพเป็นกระดาษ 1. เป็นไฟล์ข้อมูลดิจิตอล
2.สาระเรื่องราวแสดงเป็นข้อความและภาพประกอบ 2.สาระเรื่องราวมีข้อความและภาพเคลื่อนไหว
3. สาระเรื่องราวไม่มีเสียงประกอบ 3. สาระเรื่องราวใส่เสียงเพิ่มความน่าสนใจ
4. ไม่สามารถแสดงส่วนขยายด้วยวิดีทัศน์ 4. สามารถแสดงส่วนขยายความด้วยวิดีทัศน์ทันที
5. จุดสนใจอ้างอิงข้อมูลออนไลน์แจ้งเป็นแหล่งค้นคว้า 5. links สู่เครือข่ายอินเทอร์เน็ตได้ทันที
6.ไม่สามารถแก้ไข ปรับปรุงข้อมูลใหม่ได้ 6. แก้ไข เปลี่ยนแปลง ปรับปรุงได้ตลอดเวลา
7. ต้นทุนการผลิตค่อนข้างสูง 7. ต้นทุนต่ำ
8. การพิมพ์แต่ละครั้งต้องวางแผนกำหนดจำนวนพิมพ์ 8. พิมพืได้เรื่อยๆเท่าที่ต้องการ
9. การสำเนา ทำได้โดยการถ่ายเอกสาร 9. สามารถพิมพ์ได้ สำเนาให้ผู้อื่นได้ ไม่จำกัดจำนวน
10.แม้หนังสือเพียงเล่มเดียวก็ มีขนาดค่อนข้างใหญ่ 10.ไม่ว่าจะกี่เล่มก็มีขนาดเท่าเดิม
11. การอ่านสามารถอ่านได้ทันที 11.ต้องอ่านผ่านอุปกรณ์ โปรแกรมเฉพาะ


หลักการออกแบบสื่อสิ่งพิมพ์และเอกสารอิเล็กทรอนิกส์

ไม่ว่าจะเป็นสื่อเอกสาร(สิ่งพิมพ์) หรือสื่อเอกสารอิเล็กทรอนิกส์ ในการออกแบบอยู่ในพื้นฐานที่อยู่บนหลักการเดียวกัน ซึ่งในเรื่องของหลักการออกแบบ นภารัตน์ ชูเกิด ได้ให้หลักการไว้น่าสนใจ ดังนี้
หลักการออกแบบสื่อสิ่งพิมพ์ (นภารัตน์ ชูเกิด, 2548)
หลักการออกแบบ หมายถึง การนำองค์ประกอบมูลฐานมาจัดหรือรวบรวมเข้าด้วยกันอย่างมีระบบในงานออกแบบ ไม่ว่าจะเป็นตัวอักษร ภาพ หรือพื้นที่ว่าง ๆ เพื่อให้การออกแบบสื่อสิ่งพิมพ์เป็นไปตามวัตถุประสงค์ที่ต้องการ ดังต่อไปนี้


  1. หลักความสมดุล (balance)
    หมายถึง การกำหนดและการจัดวางองค์ประกอบมูลฐานให้มีน้ำหนัก และขนาดในสัดส่วนที่เท่าๆ กันทั้งสองข้าง งานออกแบบขาดความสมดุลจะก่อให้เกิดความรู้สึกไม่มั่นคงแต่ผู้พบเห็น
  2. ความมีเอกภาพ (Unity)
    หมายถึง การจัดวางองค์ประกอบให้มีการรวมตัวเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน โดยไม่แตกแยก กระจัดกระจาย งานออกแบบขาดเป็นเอกภาพจะทำให้ผู้อ่านเกิดความรู้สึกแตกแยกและไม่น่าสนใจ
  3. การเน้นจุดแห่งความสนใจ (Emphasis)
    หมายถึง การสร้างจุดแห่งความสนใจให้เกิดขึ้นในงานออกแบบ โดยการกำหนดบริเวณใดบริเวณหนึ่งในภาพที่เหมาะสม ให้มีลักษณะพิเศษกว่าบริเวณอื่น เพื่อให้ดึงดูดความสนใจแก่ผู้อ่าน
  4. ความมีสัดส่วน (Proportion)
    หมายถึง การจัดวางองค์ประกอบ โดยคำนึงถึงความสัมพันธ์ของขนาด รูปร่างขององค์ประกอบ เช่น ตัวอักษร รูปภาพ และความสัมพันธ์ระหว่างด้านกว้างและด้านยาวของสิ่งพิมพ์
  5. จังหวะ (Rhythm)
    ได้แก่ การวางองค์ประกอบมูลฐานทางศิลปะให้มีระยะตำแหน่งขององค์ประกอบเป็นช่วงๆ ซึ่งจะก่อให้เกิดความรู้สึกเคลื่อนไหวต่อเนื่องและความมีทิศทางแก่ผู้อ่าน
  6. ความเรียบง่าย (Simplicity)
    การวางองค์ประกอบในการจัดภาพ ควรเน้นที่ความเรียบง่ายไม่รกรุงรัง เพราะแม้ว่านักออกแบบจะสามารถออกแบบให้ผลงานหรูหรา แต่หากไม่สามารถสื่อความหมายได้ตามที่ต้องการ ก็สูญเปล่า ดังนั้น หลักความเรียบง่ายของการออกแบบสื่อสิ่งพิมพ์ ก็เพื่อให้ง่ายต่อการรับรู้ของผู้อ่าน

Leave a Reply


test

สาระ เนื้อหา เรื่องราว ที่ปรากฎอยู่ในบล็อกแห่งนี้ จัดทำขึ้นเพื่อรวบรวมผลงาน แนวคิด จากการศึกษาเรียนรู้ และประสบการณ์ในการทำงาน รวมถึงการนำมาจากแหล่งข้อมูลอื่น(ซึ่งจะแจ้ง links ต้นทาง) นำมาเผยแพร่ให้กับท่านที่สนใจ ผ่านช่องทางและเวทีบล็อกแห่งนี้ หากท่านต้องการที่จะแนะนำ หรือแสดงความคิดเห็นที่เป็นประโยชน์ในการจัดทำบล็อกความรู้นี้ ติดต่อพูดคุย(ฝากข้อความ) ได้นะครับ
ขอบคุณที่กรุณาเข้าเยี่ยมชม
mediathailand