วันเสาร์ที่ 16 มิถุนายน พ.ศ. 2555

8.8 หลักการใช้ การเก็บรักษาสื่อและนวัตกรรมการศึกษา

0 comments
 
หลักการใช้สื่อและนวัตกรรมการศึกษา
สื่อการศึกษามีหลายประเภท ซึ่งแต่ละประเภทต่างก็มีความแตกต่างกันในรูปร่างลักษณะ ลักษณะการใช้งาน ที่สำคัญคือความเหมาะสมกับสถานการณ์ สิ่งแวดล้อมในเวลานั้นๆด้วย ผู้ใช้จะต้องศึกษาวิธีการใช้สื่อแต่ละชนิดเพื่อให้เกิดประสิทธิผลสูงสุด และควรคำนึงถึงหลักการใช้สื่อ ดังต่อไปนี้
  1. ในบทเรียนหนึ่งๆไม่ควรใช้สื่อการศึกษามากเกินไป ควรใช้เท่าที่จำเป็นเท่านั้น
  2. ก่อนใช้สื่อการศึกษาจริงควรทดลองใช้จนเกิดความมั่นใจ เพื่อป้องกันการเกิดความ ผิดพลาด ซึ่งอาจจะทำให้ผู้เรียนลดศรัทธาในความสามารถของผู้สอนได้ ทั้งยังสามารถกำหนดเวลาและกิจกรรมที่เหมาะสมกับการใช้สื่อนั้นๆ
  3. ใช้สื่อการศึกษาที่ตรงกับบทเรียนและกระบวนการเรียนการสอน
  4. ควรเปิดโอกาสให้ผู้เรียนมีส่วนร่วมในการใช้สื่อการศึกษา
  5. คำนึงเสมอว่าสื่อการศึกษาที่ใช้อยู่นั้นไม่สามารถใช้ได้กับทุกบทเรียนและกับทุกสถานการณ์
  6. พยายามนำสิ่งที่มีอยู่ในท้องถิ่นมาใช้เป็นสื่อการศึกษาเพื่อเป็นการประหยัดเวลาและการลงทุน
นอกจากนี้ อีริคสันและเคิร์ล (Erickson & Curl , 1972 : 163 – 170 ได้กล่าวถึงหลักการใช้สื่อการสอนโดยทั่วไป ไว้ว่า การ ใช้สื่อเพื่อเกื้อหนุนให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้อย่างมีประสิทธิภาพนั้น ครูผู้สอนควรยึดหลักการสำคัญ 5 ประการ
ต่อไปนี้เป็นแนวปฏิบัติ
หลักการเลือก (Principle of Selection)
การใช้สื่อการสอนอย่างมีประสิทธิภาพควรเริ่มต้นด้วยการเลือกสื่อบนพื้นฐานของวัตถุประสงค์ของการเรียนรู้ และลักษณะของผู้เรียนในกลุ่มนั้น ๆ
หลักความพร้อม (Principle ofReadiness)
การใช้สื่อที่ดีควรพัฒนาความพร้อมให้เกิดขึ้นในตัวผู้เรียนด้วย เพื่อให้ผู้เรียนได้มีส่วนร่วมในการเรียนอย่างมีประสิทธิผล

หลักการควบคุม (Principle of Control)
การจัดสิ่งอำนวยความสะดวกทางการและการจัดสถานการณ์ เพื่อการใช้สื่อในการเรียนการสอนเป็นสิ่งจำเป็นที่ครูควร ควบคุมให้ได้ เพื่อให้การใช้สื่อนั้น ๆ คุ้มค่ากับเวลา และทำให้ผู้เรียน มีความตั้งใจและมีส่วนร่วมในการเรียนอย่างแข็งขัน
หลักการปฏิบัติ(Principle of Action)
ครูผู้สอนควรนำผู้เรียนให้สามารถสร้างประสบการณ์การเรียนรู้จากสื่อการสอนได้ด้วยตัวของผู้เรียนเอง
หลักการประเมินผล(Principle of Evaluation)
ครูควรประเมินผลทั้งจากตัวสื่อและจากการใช้สื่อการสอนของครูเอง

บราวน์และคณะ (Brown and Others ,1983 : 75) ยังได้กล่าวสรุป หลักการทั่วไปในการเลือกใช้สื่อ ดังนี้
  1. ไม่มีสื่อ วิธีการหรือ ประสบการณ์ใด เพียงอย่างเดียวที่จะดีที่สุดในการเรียนรู้
  2. การใช้สื่อจะต้องให้แน่ใจว่าสอดคล้องกับวัตถุประสงค์
  3. ในการใช้สื่อเพื่อวัตถุประสงค์เฉพาะบางอย่างในโปรแกรมการเรียน ผู้ใช้จะต้องศึกษาเกี่ยวกับสื่อนั้นอย่างถ่องแท้
  4. สื่อที่จะพิจารณานำมาใช้จะต้องให้เหมาะสมกับการเรียนการสอนนั้น ๆ
  5. อย่าปล่อยให้ความชอบมาเป็นองค์ประกอบในการเลือกหรือใช้สื่อ
  6. ใช้สื่อให้เหมาะสมกับสภาพแวดล้อม
  7. พึงตระหนักว่าประสบการณ์ ความชอบ ความสนใจความสามารถ และวิถีการเรียนรู้ ของผู้เรียนแต่ละคนจะมีอิทธิพลต่อการใช้สื่อ

เดล นักการศึกษาอีกผู้หนึ่งที่รู้จักกันดี ได้กล่าวถึงหลักการเลือกใช้สื่อ ที่น่าสนใจ ดังนี้
  1. สื่อการสอนนั้นสามารถให้แนวความคิดที่ถูกต้องเพียงใด
  2. สื่อการสอนสามารถสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องในเรื่องที่เรียนได้ดีเพียงใด
  3. สื่อการสอนนั้นเหมาะสมกับวัย ระดับสติปัญญาและประสบการณ์ ต่าง ๆ ของผู้เรียนเพียงใด
  4. สภาพแวดล้อมเหมาะสมที่จะใช้สื่อนั้นหรือไม่
  5. มีข้อเสนอแนะสั้น ๆในการใช้สื่อการสอนนั้น ๆสำหรับครูหรือไม่
  6. สื่อสามารถกระตุ้นให้ผู้เรียนพัฒนาทางความคิดได้หรือไม่
  7. คุ้มค่ากับเวลาและการลงทุนหรือไม่

ส่วน แมคคาวน์ ได้กล่าวถึงการเลือกใช้สื่อโดยมีมุมมองที่เกี่ยวพันถึงครูผู้ใช้สื่อ ดังนี้
  1. มีความเข้าใจคุณลักษณะเฉพาะของสื่อที่นำมาใช้เป็นอย่างดี
  2. มีความสามารถในการใช้สื่อนั้นร่วมกับสื่ออื่น
  3. ใช้สื่อนั้นเหมาะสมกับระดับอายุและระดับสติปัญญาของผู้เรียน
  4. พยายามจัดประสบการณ์ตรงให้มากที่สุด
  5. พยายามหาทางส่งเสริมให้ผู้เรียนมีส่วนร่วมในการใช้สื่อให้มากที่สุด
  6. นำสื่อมาใช้จริงมิใช่มาตั้งไว้เฉย ๆ
  7. ใช้สื่อให้ได้เนื้อความมากที่สุดในระยะเวลาอันสั้นสุด
  8. สื่อที่ไม่จำเป็นไม่ควรจะนำเข้าไปในห้องเรียน
  9. 9. เมื่อใช้สื่อแล้วต้องเก็บรักษาให้เรียบร้อย

Leave a Reply


test

สาระ เนื้อหา เรื่องราว ที่ปรากฎอยู่ในบล็อกแห่งนี้ จัดทำขึ้นเพื่อรวบรวมผลงาน แนวคิด จากการศึกษาเรียนรู้ และประสบการณ์ในการทำงาน รวมถึงการนำมาจากแหล่งข้อมูลอื่น(ซึ่งจะแจ้ง links ต้นทาง) นำมาเผยแพร่ให้กับท่านที่สนใจ ผ่านช่องทางและเวทีบล็อกแห่งนี้ หากท่านต้องการที่จะแนะนำ หรือแสดงความคิดเห็นที่เป็นประโยชน์ในการจัดทำบล็อกความรู้นี้ ติดต่อพูดคุย(ฝากข้อความ) ได้นะครับ
ขอบคุณที่กรุณาเข้าเยี่ยมชม
mediathailand