วันอาทิตย์ที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2555

10.6 การบริหารจัดการเพื่อการพัฒนา และใช้แหล่งการเรียนรู้สำหรับสถานศึกษา

0 comments
 
การบริหารจัดการเพื่อการพัฒนา และใช้แหล่งการเรียนรู้สำหรับสถานศึกษา

การพัฒนาแหล่งเรียนรู้   เป็นงานที่สถานศึกษาส่วนใหญ่ดำเนินการอยู่แล้ว  ภาพความสำเร็จที่จะเกิดขึ้นกับนักเรียนก็คือ  การเป็นบุคคลแห่งการเรียนรู้  สามารถแสวงหาความรู้ด้วยตนเอง  จากแหล่งการเรียนรู้ต่าง ๆ ซึ่งมีหลายช่องทาง   เพียงแต่การดำเนินการพัฒนาแหล่งการเรียนรู้ ยังเป็นไปโดยไม่เป็นระบบ และกระบวนการที่ชัดเจน   แหล่งเรียนรู้บางแห่งจึงไม่ได้ถูกใช้และพัฒนาอย่างต่อเนื่อง
  แหล่งการเรียนรู้ที่เป็นธรรมชาติก็ถูกละเลย ไม่ได้เข้าไปใช้ให้เกิดประโยชน์   ผู้บริหารสถานศึกษาจึงต้องเป็นผู้นำการดำเนินการ สู่ความสำเร็จโดยกำหนดเป็นนโยบายที่ชัดเจน ซึ่งอาจบริหารจัดการได้ดังนี้
 
1. ขั้นวางแผน  (Plan)
                1.1. กำหนดนโยบายการพัฒนาแหล่งการเรียนรู้
                สถานศึกษากำหนดนโยบายการพัฒนาแหล่งเรียนรู้ โดย ทำความเข้าใจนโยบายตามแผนหลัก   หลักสูตร  รวมทั้งแนวดำเนินการของสถานศึกษาในฝัน    เพื่อกำหนดนโยบายการพัฒนาและใช้
แหล่งการเรียนรู้  โดยให้คณะครูมีส่วนร่วมในการกำหนด 
                1.2 .จัดตั้งคณะกรรมการสำรวจแหล่งการเรียนรู้ เพื่อวิเคราะห์สภาพความพร้อมในการพัฒนาแหล่งการเรียนรู้ในสถานศึกษาและชุมชน ซึ่งอาจประกอบด้วย
                    - ผู้บริหารสถานศึกษา
                    - ผู้ช่วยผู้บริหารสถานศึกษา ฝ่ายวิชาการ
                    - หัวหน้ากลุ่มสาระการเรียนรู้ทุกกลุ่มสาระ
                    - หัวหน้างานกิจกรรมพัฒนาผู้เรียน
                    - ผู้เกี่ยวข้องที่สถานศึกษาพิจารณาตามความเหมาะสม
                1.3. จัดทำแผนงานพัฒนาแหล่งการเรียนรู้
                     คณะกรรมการพัฒนาแหล่งการเรียนรู้ มีบทบาทหน้าที่สำคัญที่จะเป็นผู้สำรวจ วิเคราะห์ความพร้อม รวบรวมข้อมูลแล้วจัดทำแผนพัฒนาแหล่งการเรียนรู้ให้สามารถดำเนินการได้อย่างเหมาะสม
                1.4. สร้างความเข้าใจแก่บุคลากรของสถานศึกษาและชุมชน
                      สถานศึกษาดำเนินการสร้างความเข้าใจกับบุคลากรทุก ๆ ฝ่ายในสถานศึกษาและบุคลากรอื่นที่เกี่ยวข้อง   ได้แก่  คณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน  เครือข่ายผู้ปกครอง  เพื่อสร้างความตระหนักและเห็นความสำคัญมีส่วนร่วมในการพัฒนาและใช้แหล่งการเรียนรู้
                1.5. ประชาสัมพันธ์โครงการ
                      สถานศึกษามีการประชาสัมพันธ์โครงการพัฒนาและใช้แหล่งการเรียนรู้  เพื่อให้ครู อาจารย์ นักเรียน ผู้ปกครอง  คณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน  รวมทั้งผู้เกี่ยวข้อง มีความเข้าใจตรงกัน  เกิดความร่วมมือในการสนับสนุน ช่วยเหลือ เพื่อให้แหล่งการเรียนรู้เกิดประโยชน์ต่อผู้เรียนอย่างมีประสิทธิภาพและคุ้มค่า


2. ขั้นการดำเนินงาน สร้างและพัฒนาแหล่งการเรียนรู้   (DO)
             สถานศึกษาอาจมีแนวทางการสร้าง พัฒนา ใช้แหล่งเรียนรู้ ได้ดังนี้
2.1. จัดตั้งคณะผู้รับผิดชอบแหล่งการเรียนรู้ ซึ่งอาจประกอบด้วย บุคลากร ดังต่อไปนี้
- รองผู้อำนวยการฝ่ายวิชาการ
- หัวหน้ากลุ่มสาระการเรียนรู้
- หัวหน้างานห้องสมุด
- หัวหน้าศูนย์คอมพิวเตอร์ ของสถานศึกษา
รับผิดชอบการดำเนินการสร้างและพัฒนาแหล่งการเรียนรู้ ตามความพร้อมที่ได้ดำเนินการสำรวจ และวิเคราะห์ข้อมูล ทั้งในสถานศึกษาและชุมชน    กำหนดแหล่งเรียนรู้และจัดระบบสารสนเทศเกี่ยวกับแหล่งการเรียนรู้
2.2. สร้างและพัฒนาแหล่งการเรียนรู้
ดำเนินการสร้างและพัฒนาแหล่งการเรียนรู้ตามสารสนเทศที่มีอยู่ ให้มีประสิทธิภาพ จัดระบบการใช้ สำหรับผู้เรียน และผู้สนใจ
2.3. ผู้เรียนและผู้สนใจได้ใช้แหล่งการเรียนรู้อย่างเหมาะสมและคุ้มค่า มีการรวบรวมข้อมูล
การใช้ เพื่อเป็นข้อมูลกำหนดแนวทางในการพัฒนาแหล่งเรียนรู้ต่อไป

 3. ขั้นตรวจสอบ ทบทวน กำกับติดตาม   (CHECK)
สถานศึกษากำหนดให้มีผู้รับผิดชอบในการนิเทศ  ติดตาม  และประเมินการพัฒนาและใช้
แหล่งการเรียนรู้  อย่างต่อเนื่องและมีประสิทธิภาพ  แก้ไข ปัญหาอุปสรรคในระหว่างการดำเนินการ
มีการประเมินทบทวนปรับปรุง  กระบวนการดำเนินการ ให้เกิดการพัฒนาและใช้ แหล่งการเรียนรู้
ตามแผนหลักและแนวดำเนินการของสถานศึกษาในฝันที่สถานศึกษากำหนดไว้ ตามบริบทของสถานศึกษาเอง มีการกำหนดวิธีการ และเครื่องมือประเมินผลการดำเนินการ  การสร้าง   การพัฒนาและใช้แหล่งการเรียนรู้  วิเคราะห์ผลการประเมินและสรุปผลการประเมิน 

4. ขั้นสรุปและรายงานผลการสร้างและพัฒนาแหล่งการเรียนรู้ (ACTION)
                การสรุปรายงานการพัฒนาและใช้แหล่งการเรียนรู้  ควรรวบรวมข้อมูลตั้งแต่เริ่มดำเนินการ ระหว่างดำเนินการ  และเสร็จสิ้นการดำเนินการ  เพื่อสรุปเป็นรายงานนำเสนอให้หน่วยงานต้นสังกัด
ทุกระดับและผู้เกี่ยวข้องทราบ ตลอดจนการประชาสัมพันธ์ ให้เกิดการใช้แหล่งการเรียนรู้ให้กว้างขวางยิ่งขึ้น เป็นการส่งเสริมการพัฒนาต่อยอดต่อไป


การเรียนรู้จากแหล่งการเรียนรู้ในสถานศึกษาเป็นการจัดกระบวนการเรียนรู้ที่สอดคล้อง กับพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542 เพราะเป็นการจัดกิจกรรมให้ผู้เรียนได้เรียนรู้จากประสบการณ์จริงฝึกปฏิบัติให้ทำได้ คิดเป็น ทำเป็น รักการอ่าน การเขียน และเกิดการใฝ่รู้อย่างต่อเนื่อง รวมทั้งมีการจัดเนื้อหาสาระและกิจกรรมให้สอดคล้องกับความถนัดและความสนใจของผู้เรียน โดยคำนึงถึงความแตกต่างระหว่างบุคคล มีการฝึกทักษะ ฝึกกระบวนการคิด การจัดการ การเผชิญสถานการณ์ และการประยุกต์ความรู้มาใช้เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาต่างๆ ซึ่งจะส่งผลให้ผู้เรียนสามารถจดจำองค์ความรู้นั้นไปประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันได้ตลอดไป ดังนั้น สถานศึกษาทุกแห่งจะต้องให้ความสำคัญในการจัดให้มีแหล่งการเรียนรู้ที่เหมาะสมกับผู้เรียน และมีการใช้ประโยชน์จากแหล่งการเรียนรู้ที่มีอยู่ทั้งในสถานศึกษาและในชุมชนให้เกิดประโยชน์สูงสุด

Leave a Reply


test

สาระ เนื้อหา เรื่องราว ที่ปรากฎอยู่ในบล็อกแห่งนี้ จัดทำขึ้นเพื่อรวบรวมผลงาน แนวคิด จากการศึกษาเรียนรู้ และประสบการณ์ในการทำงาน รวมถึงการนำมาจากแหล่งข้อมูลอื่น(ซึ่งจะแจ้ง links ต้นทาง) นำมาเผยแพร่ให้กับท่านที่สนใจ ผ่านช่องทางและเวทีบล็อกแห่งนี้ หากท่านต้องการที่จะแนะนำ หรือแสดงความคิดเห็นที่เป็นประโยชน์ในการจัดทำบล็อกความรู้นี้ ติดต่อพูดคุย(ฝากข้อความ) ได้นะครับ
ขอบคุณที่กรุณาเข้าเยี่ยมชม
mediathailand