วันพฤหัสบดีที่ 5 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

11.6 ขั้นตอนการออกแบบสื่อการเรียนรู้ออนไลน์

0 comments
 
ในการออกแบบสื่อการเรียนรู้ออนไลน์นั้น มีหลากหลายรูปแบบหรือวิธีการ ซึ่งในแต่ละรูปแบบหรือวิธีการก็มีขั้นตอนที่อาจจะคล้ายกัน หรือแตกต่างกันในบางส่วน แต่ในภาพรวมนั้นไม่ได้หนีไปจากกันมานัก เราลองมาศึกษาขั้นตอนการออกแบบสื่อการเรียนรู้ออนไลน์ ในรูปแบบตัวอย่างต่อไปนี้กัน  ซึ่งจะประกอบด้วยขั้นตอนต่างๆ 6 ขั้นตอน
1. ขั้นตอนการเตรียมข้อมูลสาระเนื้อหา (Preparation)
2. ขั้นตอนการออกแบบบทเรียน (Design web-page Instruction)
3. ขั้นตอนวางกรอบเนื้อหาและเขียนผังงาน (Flowchart Lesson)
4. ขั้นตอนการสร้างหน้าเอกสารเว็บ (Create Web-page)
5. ขั้นตอนการเผยแพร่ทดสอบ (Publish)
6. ขั้นตอนการประเมินหรือปรับปรุง (Evaluate and Revise)

ขั้นตอนที่ 1 ขั้นตอนการเตรียมข้อมูลสาระเนื้อหา (Preparation)
ขั้นแรกในการออกแบบบทเรียนเป็นการเตรียมพร้อมก่อนที่จะทำการออกแบบบทเรียน ผู้ออกแบบต้องเตรียมพร้อมในเนื้อหาข้อมูลให้ชัดเจน การกำหนดเป้าหมายและวัตถุประสงค์ การรวบรวมข้อมูลเนื้อหาต่าง ๆ เพื่อให้เกิดการสร้างหรือระดมความคิดในที่สุด ซึ่งจะต้องให้ความสำคัญและใช้เวลามาก จะทำงานตามขั้นตอน ดังนี้
  1. กำหนดเป้าหมายและวัตถุประสงค์ (Determine Goals and Objectives)
    ใน การกำหนดเป้าหมายและวัตถุประสงค์ของบทเรียน คือการตั้งเป้าหมายว่าผู้เรียนสามารถใช้บทเรียน เพื่อศึกษาในเรื่องใดและลักษณะใด เมื่อเรียนจบแล้วสามารถทำอะไรได้บ้าง การกำหนดเป้าหมายยังรวมถึงการเชื่อมโยงความรู้พื้นฐานของผู้เรียนด้วย เพื่อให้บรรลุถึงวัตถุประสงค์ที่กำหนด
  2. รวบรวมข้อมูล (Collect Resources)
    การรวบรวมข้อมูล หมายถึงการเตรียม พร้อมทางด้านของทรัพยากรสารสนเทศ (Information Resources) ทั้งหมดที่เกี่ยวข้องในส่วนของเนื้อหา (Materials) การพัฒนาและการออกแบบ (Instructional Development) และสื่อในการนำเสนอบทเรียน (Instructional Delivery System)
  3. เรียนรู้เนื้อหา (Learn Content)
    ผู้ออกแบบบทเรียนต้องรู้และมีความเข้าใจในเนื้อหาและความรู้ด้านการออกแบบบทเรียน หรือจะทำงานเป็นทีม เพื่อให้การออกแบบและเนื้อหาจัดได้อย่างมีประสิทธิภาพ
  4. สร้างความคิด (Generate Ideas)
    การสร้างความคิดคือการระดมสมองเป็นการกระตุ้นให้เกิดการใช้ความคิดสร้างสรรค์ เพื่อให้ได้ข้อคิดเห็นต่าง ๆ อันจะนำมาซึ่งแนวคิดที่ดีและน่าสนใจที่สุด
ขั้นตอนที่ 2 ขั้นตอนการออกแบบบทเรียน (Design Instruction)
ในขั้นนี้จะเป็นการทอนความคิด การวิเคราะห์งานและแนวคิดการออกแบบบทเรียนขั้นแรก การประเมินผลและการแก้ไขการออกแบบ จะทำงานดังนี้
  1. ทอนความคิด (Elimination of Ideas)
    หลังจากการระดมสมองแล้ว ต้องนำ ความคิดทั้งหมดมาประเมินเพื่อดูข้อคิดที่น่าสนใจ การตัดความคิดที่ทำไม่ได้ออก
  2. วิเคราะห์งานและแนวคิด (Task and Concept Analysis )
    การวิเคราะห์เป็น การพยายามวิเคราะห์ขั้นตอนเนื้อหาที่ผู้เรียนต้องศึกษาจนทำให้เกิดการเรียนรู้ โดยการวิเคราะห์เนื้อหาต้องทำอย่างละเอียด ส่วนใดที่ไม่เกี่ยวข้องหรือส่วนที่อาจก่อให้เกิดความสับสนก็ให้ตัดออก
  3. การออกแบบบทเรียน (Preliminary Lesson Description)
    หลังจากได้มีการวิเคราะห์งานและแนวคิด ผู้สร้าง/ผู้ออกแบบต้องนำงานและแนวคิดทั้งหลายมาผสมผสาน ทำการแบ่งแยกเนื้อหาออกมาให้เป็นบทเรียนที่มีประสิทธิภาพ การออกแบบต้องจัดการให้เหมาะสมกับเนื้อหาแต่ละประเภท การจัดรูปร่างให้ออกมาอย่างไรบ้าง ถึงจะให้เกิดความน่าสนใจในการเรียน โดยการสร้างสรรค์งานหรือจัดกิจกรรมต่างๆ เพื่อให้มีความน่าสนใจ ซึ่งเนื้อาที่แสดงในแต่ละหน้า ไม่ควรให้ยาวจนเกินไป แม้ว่าหน้าเอกสารเว็บสามารถที่จะ scroll ลงมาได้ก็ตาม
  4. ประเมินและแก้ไขการออกแบบ (Evaluation and Revision of the Design)
    การประเมินและแก้ไขการออกแบบเป็นสิ่งที่มีความสำคัญมากในการออกแแบบทเรียนอย่างมีระบบ การประเมินต้องมีการทำอยู่เป็นระยะ ๆ ระหว่างการออกแบบ ไม่ใช่หลังจากที่ออกแบบโปรแกรมเสร็จแล้วเท่านั้น การประเมินผลรวมถึงการทดสอบผู้เรียนว่าสามารถดำเนินกิจกรรมการเรียนรู้ บรรลุเป้าหมายหรือไม่ การรวบรวมทรัพยากรด้านข้อมูลต่างๆให้มากขึ้น การเพิ่มเติมเนื้อหา ทั้งในส่วนของบทเรียน ส่วนอ้างอิง ส่วนเชื่อมโยงไปสู่แหล่งความรู้ในเว็บไซต์ต่างๆ นำทุกส่วนมาพิจารณาอีกครั้ง หากพบส่วนที่จะเป็นอุปสรรคก็ปรับแก้วิเคราะห์งานหรือการปรับเปลี่ยนรูปแบบให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

ขั้นตอนที่ 3 ขั้นตอนการวางกรอบเนื้อหาและเขียนผังงาน (Flowchart Lesson)
ผังงานก็คือ ส่วนโครงสร้างของสาระเนื้อหาที่กำลังจะพัฒนาซึ่งจะแสดงขั้นตอนการสร้างงาน การเขียนผังงานจะช่วยให้เข้าใจลำดับการสร้างบทเรียนที่ชัดเจนและง่ายต่อการตรวจสอบ แก้ไขได้อย่างรวดเร็วในภายหลัง การเขียนผังงานมีหลายระดับแตกต่างกันไปแล้วแต่ความละเอียดของแต่ละเนื้อหาบทเรียน นอกจากนี้ ยังสามารถนำผังงานมาพิจารณาความเหมาะสมต่อการเรียนรู้ การเข้าถึงเนื้อหา เพราะหากบทเรียนมีความลึกมาก ก็อาจจะเป็นอุปสรรคและปัญหาของการควบคุมลำดับขั้นตอนการเรียนรู้ได้

ขั้นตอนที่ 4 ขั้นตอนการสร้างหน้าเอกสารบทเรียน ( web document Lesson)
ขั้นตอนนี้เป็นกระบวนการเปลี่ยนต้นฉบับหรือโครงร่างให้เป็นหน้าเอกสารเว็บ ซึ่งในขั้นตอนนี้ผู้ออกแบบบทเรียนจะต้องรู้จักเลือกใช้โปรแกรมการเขียนเอกสารเว็บที่ถนัดและเหมาะสมกับตนเอง ซึ่งมีอยู่หลากหลาย อาทิ Adobe Dreamweaver , Namo Editor, Edit Plus นอกจากนี้ยังจะต้องมีความรู้ในการใช้โปรแกรมประเภท Image editor หรือโปรแกรมสำหรับตกแต่ภาพ โปรแกรมสร้าง animation รวมถึงต้องเข้าใจภาษา html ภาษาสคริป (Script) เป็นต้น
เสน่ห์สำคัญของบทเรียนออนไลน์ ที่ไม่มีในสื่อการเรียนรู้ประเภทอื่นๆก็คือ ผู้สร้างสามารถที่จะปรับแต่ง เปลี่ยนแปลง เพิ่มเติม ลดทอนสาระเนื้อหาได้โดยง่าย
ขั้นตอนที่ 5 ขั้นตอนการเผยแพร่ทดสอบบทเรียน ( Publish)
ขั้นตอนนี้เป็นกระบวนการนำเอาสาระการเรียนรู้ที่ได้สร้างขึ้น นำเข้าสู่ระบบ ซึ่งกลไกการเข้าสู่ระบบ มีหลายวิธีการ ได้ทั้งการ upload ผ่านโปรแกรมประเภท file transfer ต่างๆ หรือ ผ่านระบบของ web-based learning ที่ได้ออกแบบไว้

ขั้นตอนที่ 6 ขั้นตอนการประเมินหรือแก้ไขบทเรียน(Evaluate and Revise)
ในช่วงสุดท้าย บทเรียนและเอกสารประกอบทั้งหมด ควรที่จะได้รับการประเมิน โดยเฉพาะการประเมินในส่วนของการนำเสนอและการทำงานของบทเรียน ในช่วงการนำเสนอนั้นผู้ที่ควรจะทำการนำเสนอก็คือผู้ที่มีประสบการณ์ในการออกแบบมาก่อน ในการประเมินการทำงานของบทเรียนนั้น ผู้ออกแบบควรที่จะทำการสังเกตพฤติกรรมของผู้เรียน ในขณะที่ใช้บทเรียนหรือสัมภาษณ์ผู้เรียนหลังการใช้บทเรียน โดยผู้เรียนจะต้องมาจากผู้เรียนกลุ่มเป้าหมาย ขั้นตอนนี้อาจครอบคลุมการทดสอบนำร่องและการประเมินจากผู้เชี่ยวชาญได้

Leave a Reply


test

สาระ เนื้อหา เรื่องราว ที่ปรากฎอยู่ในบล็อกแห่งนี้ จัดทำขึ้นเพื่อรวบรวมผลงาน แนวคิด จากการศึกษาเรียนรู้ และประสบการณ์ในการทำงาน รวมถึงการนำมาจากแหล่งข้อมูลอื่น(ซึ่งจะแจ้ง links ต้นทาง) นำมาเผยแพร่ให้กับท่านที่สนใจ ผ่านช่องทางและเวทีบล็อกแห่งนี้ หากท่านต้องการที่จะแนะนำ หรือแสดงความคิดเห็นที่เป็นประโยชน์ในการจัดทำบล็อกความรู้นี้ ติดต่อพูดคุย(ฝากข้อความ) ได้นะครับ
ขอบคุณที่กรุณาเข้าเยี่ยมชม
mediathailand