วันพฤหัสบดีที่ 5 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

12.3 ปัญหาจากพัฒนาการด้านระบบเทคโนโลยีสารสนเทศในสถานศึกษา

0 comments
 
ปัจจุบันเป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไปแล้วว่า เทคโนโลยีสารสนเทศ เป็นส่วนจำเป็นในการขับเคลื่อนการจัดการศึกษาให้กว้างไกล เป็นส่วต่อยอดในการพัฒนาทางความคิดให้กับผู้เรียนได้ดีอีกช่องทางหนึ่ง ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ประเทศไทยมีการปฏิรูปการศึกษา เพื่อพัฒนา และปรับเปลี่ยนรูปแบบ และวิธีการ จัดการเรียนรู้ โดยเน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ ส่งเสริมพัฒนาการเรียนรู้ของผู้เรียน โดยีการนำเทคโนโลยีเข้ามาสนับสนุนในการจัดการศึกษา ส่งผลให้สถานศึกษาเกือบทุกแห่งในปัจจุบันต่างแข่งขัน เร่งจัดหา เครื่องมือ อุปกรณ์ เพื่อให้พอเพียง(เกินพอ) ต่อกระบวนการจัดการศึกษา
เราจะพบว่าระบบและอุปกรณ์ รวมถึงคอมพิวเตอร์ มีประสิทธิภาพสูงขึ้น แต่ราคากับถูกลง จนกล่าวได้ว่า ราคาของอุปกรณ์ รวมถึงราคาคอมพิวเตอร์ใกล้ที่จะถึงระดับอิ่มตัว ที่สำคัญ ตัวซอฟท์แวร์หรือโปรแกรม ต่างมีพัฒนาการที่มีการปรับปรุงรุ่นอย่างต่อเนื่องในทุกๆปี ทำให้โปรแกรมบ้างโปรแกรม ขาดความทันสมัย แต่ประเด็นสำคัญก็คือ วงจรชีวิตของอุปกรณ์ด้านคอมพิวเตอร์ส่วนใหญ่ มักจะมีรอบวงจรชีวิต ในช่วง 5-7 ปีเท่านั้น ซึ่งหากอุปกรณ์หรือเครื่องคอมพิวเตอร์ชำรุดหลังจากผ่านรอบวงจรชีวิตไปแล้ว อาจจะประสบปัญหา ไม่สามารถหาชิ้นส่วนมาซ่อมบำรุงได้ ดังนั้นสถานศึกษาจึงควรได้มีแผนพัฒนาระยะยาวในการรองรับปัญหาด้านระบบ รวมถึงซอฟท์แวร์และอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ด้วย

สาเหตุแห่งปัญหา
ปัญหาในการพัฒนาด้านระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ พอสรุป ปัญหาได้ ดังนี้
  1. พัฒนาการ การเจริญเติบโตทางเทคโนโลยีเป็นไปอย่างรวดเร็ว
  2. ระบบเครือข่ายมีช่องว่าง ขาดการป้องกัน ความปลอดภัยของข้อมูลส่วนตัวและส่วนขององค์กรมีน้อยลง
  3. โครงสร้างพื้นฐานของระบบเครือข่ายสารสนเทศที่สมบูรณ์ยังมีราคาสูง
  4. ผู้ใช้งานในระบบเครือข่ายขาดความเข้าใจในการปกป้องระบบและข้อมูล
  5. ผู้ใช้งานในระบบ ขาดความระมัดระวัง หรือใส่ใจหรือไม่เข้าใจคำแจ้งเตือน(ภาษาอังกฤษ)
การวิเคราะห์ปัญหา
การวิเคราะห์ปัญหาด้านระบบและมาตรฐานทางเทคโนโลยีสารสนเทศ
ปัจจัยหลักที่พบส่วนใหญ่ยังคงมาจาก ขาดการกำหนดวิสัยทัศน์ วัตถุประสงค์ นโยบายและมาตรฐาน ด้านเทคโนโลยีสารสนเทศในสถานศึกษาเป็นอันดับแรก หรือหากมีแล้วก็พบว่าขาดการสนับสนุนด้านงบประมาณ ขาดการพัฒนาระบบให้มีมาตรฐานอย่างต่อเนื่อง ซึ่งปัจจุบันพบว่าวิวัฒนาการของเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ รวมถึงเทคโนโลยีสารสนเทศผ่านเครือข่ายได้มีพัฒนาการที่แปรเปลี่ยนไป เทคโนโลยีเว็บในปัจจุบันได้พัฒนามาสู่มาตรฐานของ web 2.0 ส่งผลให้มาตรฐานการจัดการศึกษาออนไลน์ต้องก้าวตามเข้าสู่ยุค e-learning generation ที่ 2 ตามไปด้วย ทำให้การเข้าถึงข้อมูลในบางส่วนอาจจะไม่สามารถทำได้เนื่องจาก ระบบและเทคโนโลยีที่ใช้ยังล้าสมัยไม่สามารถเข้าถึงสาระการเรียนรู้ ข้อมูล ข่าวสาร ตามที่ต้องการได้ นอกจากนี้ยังอาศัยความก้าวหน้าของเทคโนโลยีไร้สาย ซึ่งเครื่องคอมพิวเตอร์แบบพกพาหรือ notebook / netbook มีความสามารถเข้าใช้งานเครือข่ายที่เปิดใช้งานโดยไม่มีระบบป้องกันการเข้าถึงเครือข่าย ได้กลายเป็นช่องทางในการก่ออาชญากรรมผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ตในรูปแบบต่างๆ อาทิ การบุกรุกแก้ไข เปลี่ยนแปลงข้อมูล การโจมตีเครือข่าย การติดต่อซื้อขายสิ่งของผิดกฎหมาย การล่อลวง หลอกลวง ด้านข้อมูล หรือหวังผลประโยชน์แอบแฝงต่างๆ นอกจากนี้การใช้งานอย่างไม่ระมัดระวัง การไม่เข้าใจหรือแปลความหมายทางภาษาอังกฤษที่ระบบแจ้งเตือน มีความเข้าใจคลาดเคลื่อน แปลความหมายผิด ทำให้เกิดการตัดสินใจที่ผิดพลาดในการยอมรับเงื่อนไข นำมาซึ่งภัยแอบแฝงต่างๆ

แนวทางการแก้ไข
ผู้บริหาร รวมถึงบุคลากรใน หน่วยงาน สถานศึกษา ต้องร่วมมือกันในการใช้เครือข่าย ทั้งในแบบเครือข่ายสาย และเครือข่ายไร้สาย โดยให้ความสำคัญในเรื่องต่อไปนี้
  1. มีแผนในการพัฒนาระบบ อุปกรณ์คอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ต่อพ่วง
    โดยอาจกำหนดแผนระยะยาวในการพัฒนา ปรับปรุงระบบ เครื่องมือ อุปกรณ์ และควรบันทึกช่วงระยะอายุของอุปกรณ์ในแต่ละรายการเอาไว้ เพื่อใช้ประกอบในการพัฒนาระบบในภาพรวม นอกจากนี้ ควรมีประวัติของเครื่องคอมพิวเตอร์ในแต่ละเครื่องว่ามีคุณลักษณะเฉพาะอะไรบ้าง
  2. วางระบบ การเข้าถึง การบุกรุกจากภายนอก (Firewall)
    โดยปกติระบบปฎิบัติการ windows ในทุกรุ่น จะมีระบบการป้องกันอยู่ส่วนหนึ่งแล้ว แต่การใช้งานจริงพบว่า ผู้ใช้งานแต่ละเครื่อง มักเป็นผู้ เปิดช่องว่างหรืออนุญาตในการเข้าถึงระบบเอง โดยการไม่เข้าใจในภาษา ข้อความที่ระบบเครื่องแจ้งเตือน ทำให้เครื่องคอมพิวเตอร์เครื่องนั้นเป็นที่สิงสถิตย์ของโปรแกรมคุกคามขนาดเล็ก(อ่านรายละเอียดภัยคุกคามเพิ่มเติม) นอกจากจะเป็นภัยคุกคามของเครื่อง ยังแพร่ลุกลามไปในเครือข่ายองค์กร สถานศึกษา นำพาไปสู่เครื่องส่วนตัวที่บ้าน ดังนั้นการทำความเข้าใจ ด้วยการฝึกอบรม การให้ความรู้อย่างต่อเนื่อง

    ป้องกันการไหลเข้าและออกของข้อมูลจากเครือข่ายอินเตอร์เน็ตภายนอก เพื่อป้องกันการบุกรุกจากภายนอก และไม่ให้บุคคลที่ไม่ได้รับอนุญาตเข้ามาใช้ข้อมูลภายในเครือข่ายโดยไม่จำเป็น
  3. มอบหมายความรับผิดชอบแก่เจ้าหน้าที่เป็นลายลักษณ์อักษร
    แต่ละสถานศึกษาควรมีการมอบหมายผู้ที่มีความรู้ให้รับผิดชอบเพื่อดูแลบริหารระบบให้เป็นไปตาม พรบ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 อย่างเคร่งครัด มุ่งเน้นในการรักษาความมั่นคงของระบบเครือข่าย ป้องกันการละเมิดงานอันมีลิขสิทธิ์ ทั้งของหน่วยงาน บุคลากร ภายในสถานศึกษาและผลงาน สื่อ ที่มีลิขสิทธิ์จากแหล่งภายนอกเครือข่าย นอกจากนี้ต้องให้ความรู้ ย้ำเตือน เฝ้าระวังการกระทำของบุคลากรในองคืกร สถานศึกษาไม่ให้เกิดการกระทำที่เป็นการลักลอบการใช้งานที่ไม่ถูกต้อง
  4. ป้องกันการนำช่องความถี่ไร้สายไปใช้ในทางที่ผิดกฎหมาย
    วางมาตรการ การใช้เครือข่ายไร้สายอย่างเคร่งครัด การเปิดช่องสัญญาณไร้สาย ควรติดตั้งระบบรักษาความปลอดภัย โดยระบุตัวตนและรหัสผ่านเข้าใช้งานเครือข่ายทุกครั้ง นอกจากนี้ควรมีมาตรการปรับเปลี่ยนรหัสเข้าใช้งานเป็นช่วงระยะเวลาด้วย (ไม่ควรใช้รหัสผ่านชุดเดียวกันหรือใช้ช่วงระยะเวลานาน เพราะรหัสผ่านเพื่อเข้าใช้งานเครือข่ายอาจมีการรั่วไหล)
  5. วางแผนการใช้งบประมาณในการจัดหาโปรแกรมหรือซอฟท์แวร์ของหน่วยงานอย่างถูกกฎหมาย
    ปัจจุบันพบว่าหน่วยงาน ของรัฐ โดยเฉพาะหน่วยงาน สถานศึกษาส่วนใหญ่ มักจะใช้โปรแกรมหรือ วอฟท์แวร์ ละเมิดลิขสิทธิ์
  6. ให้ความรู้ ด้านการใช้งานเครือข่ายและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง
    หน่วยงาน สถานศึกษาที่มีเครื่องคอมพิวเตอร์ และใช้งานร่วมกับเครือข่าย ควรให้ความรู้ ชี้แจงถึงสิทธิ การละเมิดสิทธิในเครือข่าย ข้อกฎหมายและบทลงโทษ การปกป้อง ป้องกันการบุกรุก การเข้าถึงระบบและข้อมูลภายในเครื่องคอมพิวเตอร์ที่รับผิดชอบ
  7. กำหนดสิทธิการเข้าถึงการใช้เครือข่ายอย่างชัดเจน
    ควรมีมาตรการในการดูแล การเฝ้าระวัง การเข้าถึง การล่วงละเมิด การเปลี่ยนแปลงสิทธิการใช้งาน การลักลอบเข้าถึง การใช้งานข้ามเครื่อง
  8. ให้ความสำคัญกับการป้องกันไวรัสคอมพิวเตอร์ในระดับสูงสุด
    ควรมีมาตรการ ข้อตกลงของหน่วยงาน สถานศึกษาในการรับผิดชอบต่อการป้องกันไวรัสคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลที่ใช้งานอยู่

Leave a Reply


test

สาระ เนื้อหา เรื่องราว ที่ปรากฎอยู่ในบล็อกแห่งนี้ จัดทำขึ้นเพื่อรวบรวมผลงาน แนวคิด จากการศึกษาเรียนรู้ และประสบการณ์ในการทำงาน รวมถึงการนำมาจากแหล่งข้อมูลอื่น(ซึ่งจะแจ้ง links ต้นทาง) นำมาเผยแพร่ให้กับท่านที่สนใจ ผ่านช่องทางและเวทีบล็อกแห่งนี้ หากท่านต้องการที่จะแนะนำ หรือแสดงความคิดเห็นที่เป็นประโยชน์ในการจัดทำบล็อกความรู้นี้ ติดต่อพูดคุย(ฝากข้อความ) ได้นะครับ
ขอบคุณที่กรุณาเข้าเยี่ยมชม
mediathailand