สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ (2543 8–9)ได้สรุปหลักการเพื่อการเรียนรู้ตลอดชีวิตของคนไทยไว้ดังนี้
- สร้างสังคมไทยให้เป็นสังคมแห่งการเรียนรู้ตลอดชีวิต และมีวัฒนธรรมการเรียนรู้
- การเรียนรู้ตลอดชีวิตเกิดขึ้นและมีความต่อเนื่องตลอดเวลาตลอด ช่วงอายุของผู้เรียน
- คนไทยทุกคนมีสิทธิและความเสมอภาคในการเรียนรู้ตลอดชีวิต
- ผู้เรียนและการเรียนรู้มีความสำคัญและสัมพันธ์กับวิถีชีวิตที่มีความสุข
- ผู้เรียนมีโอกาสและมีทางเลือกในการเรียนรู้ ด้วยรูปแบบและวิธีการเรียนรู้ที่หลากหลาย มีคุณภาพและยืดหยุ่นตามความต้องการของผู้เรียน
- การเรียนรู้เกิดขึ้นได้ทุกสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม
- ทุกแห่งในสังคมคือแหล่งการเรียนรู้ของคนทุกคน
- ทุกฝ่ายในสังคมต้องร่วมรับผิดชอบในการจัดการศึกษา และอำนวยความสะดวกในการเรียนรู้ตลอดชีวิตแก่ปวงชน
- การเรียนรู้ตลอดชีวิตเป็นการบูรณาการการศึกษาในระบบการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยเข้าด้วยกัน
- คุณภาพของการเรียนรู้ขึ้นอยู่กับความพึงพอใจของผู้เรียนและผู้ที่เกี่ยวข้อง
วิธีการจัดการศึกษาตลอดชีวิต
ลักษณะของการจัดการศึกษาหรือการจัดกิจกรรมการศึกษาตลอดชีวิต มี 3 รูปแบบ ดังนี้
- การศึกษาพื้นฐานให้มีความรู้ความสามารถตามที่สังคมคาดหวัง
- การศึกษาด้านวิชาชีพ เพื่อมีทักษะในการประกอบอาชีพและสามารถดำรงชีวิตในสังคม
- การศึกษาตามอัธยาศัยจากประสบการณ์ บุคคล แหล่งเรียนรู้เพื่อเพิ่มพูนความรู้ ทักษะ และพัฒนาคุณภาพชีวิต
- การศึกษาในระบบโรงเรียนจะต้องไม่สิ้นสุดเพียงเมื่ออยู่ในโรงเรียน แต่จะต้องจัดให้บุคคลเมื่อจบการศึกษาจากโรงเรียนไปแล้วสามารถเข้ามาเรียนได้อีก กล่าวคือ โรงเรียนจะต้องทำหน้าที่เป็นผู้เตรียมความพร้อมด้านความรู้ความสามารถ และปลูกฝังแนวคิดเกี่ยวกับการศึกษาตลอดชีวิตแก่นักเรียนเพื่อให้นักเรียนสามารถมีทัศนคติ แรงจูงใจที่จะใฝ่รู้ และสามารถเรียนรู้ได้ด้วยตนเองหลังจากจบการศึกษาจากโรงเรียนแล้ว
- ทุกหน่วยงานในสังคมมีบทบาทในการจัดการศึกษา อาทิ ห้องสมุด พิพิธภัณฑ์ สวนสัตว์ สโมสร ศาลาประชาคม วัด ที่ทำงาน เป็นต้น อันเป็นการจัดการเครือข่ายการเรียนรู้ของสถาบันการศึกษา องค์กรภาครัฐ และเอกชน เป็นการจัดประสบการณ์การเรียนรู้ให้แก่ผู้เรียน เช่น บริการข่าวสาร ข้อมูล ต่างๆ เพื่อเป็นแหล่งความรู้ให้ผู้เรียนสามารถศึกษาค้นคว้าได้ด้วยตนเอง
- การจัดประสบการณ์การเรียนรู้ให้ผู้เรียน ควรจะจัดหลักสูตรในลักษณะของการบูรณาการ สอดคล้องกับวิถีชีวิตและประสบการณ์ของผู้เรียน เพื่อ เสริมทักษะ ความรู้ และพัฒนาคุณภาพของผู้เรียน โดยให้ถือการงาน หรือ ชีวิตเป็นส่วนหนึ่งของการเรียนรู้
- หลักสูตรการศึกษาตลอดชีวิตจะต้องครอบคลุมบทบาทของมนุษย์ ตั้งแต่เกิดจนตาย ตั้งแต่ชีวิตส่วนบุคคล ครอบครัว การงาน การพักผ่อน สังคม การเมือง เศรษฐกิจ ฉะนั้นจะต้องพัฒนาให้มีเครื่องมือที่จะเรียนรู้ สามารถใช้แหล่งวิทยาการ มีแรงจูงใจที่จะคิดศึกษาหาความรู้ไปตลอดชีวิต
- การศึกษาในระบบ นอกระบบ และตามอัธยาศัยจะต้องเกื้อกูลกัน สังคมจะต้องส่งเสริมให้มีแหล่งวิชาที่ทุกคนมีโอกาสใช้สื่อทุกประเภท และศึกษา หาความรู้จากแหล่งต่างๆ อาทิ ห้องสมุด วิทยุ โทรทัศน์ พิพิธภัณฑ์ ฯลฯ แนวคิดการศึกษาตลอดชีวิตได้นำไปใช้โดยจัดการศึกษาตลอดช่วงอายุของบุคคลในรูปแบบต่างๆ ทั้งในระบบโรงเรียน นอกระบบโรงเรียน และการศึกษาตามอัธยาศัย ทั้งนี้จะต้องปรับโครงสร้างขององค์กรที่จัดการศึกษาให้สอดคล้องกับนโยบาย หลักการศึกษาตลอดชีวิต โดยยึดการบูรณาการความเสมอภาค ความเป็นประชาธิปไตย และความสอดคล้องกับวิถีชีวิต