วันอังคารที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

3.4 ความหมายของเทคโนโลยีทางการศึกษา

0 comments
 

ความหมายของเทคโนโลยี
เทคโนโลยี (Technology) มีรากศัพท์มาจากภาษากรีก คือ
Tech = Art ในภาษาอังกฤษ
Logos = A study of
ดังนั้น คำว่า เทคโนโลยี จึงหมายถึง A study of art ซึ่งได้มีผู้แปลความหมาย สรุป ได้ว่าเทคโนโลยี หมายถึง การนำความรู้ทางวิทยาศาสตร์ และระเบียบวิธีทางวิทยาศาสตร์มาใช้ให้เป็นประโยชน์ในการพัฒนาและปฏิบัติงาน อย่างเป็นระบบ โดยสามารถนำไปใช้ในสาขาต่าง ๆ กัน และเรียกชื่อไปตามสาขาที่ใช้
ที่มา:http://www.nrru.ac.th/preelearning/rungrot/page01004.asp


จากความเจริญในด้านต่างๆ ที่ปรากฏให้เห็นอยู่ในปัจจุบัน เป็นผลมาจากการศึกษาค้นคว้าทดลองประดิษฐ์คิดค้นสิ่งต่างๆ โดยอาศัยความรู้ทางวิทยาศาสตร์ เมื่อศึกษาค้นพบและทดลองใช้ได้ผลแล้ว ก็นำออกเผยแพร่ใช้ในกิจการด้านต่างๆ ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงพัฒนาคุณภาพ และประสิทธิภาพในกิจการต่างๆ เหล่านั้น และวิชาการที่ว่าด้วยการนำความรู้ทางวิทยาศาสตร์ มาใช้ในกิจการด้านต่างๆ จึงเรียกกันว่า วิทยาศาสตร์ประยุกต์หรือนิยมเรียกกันทั่วไปว่า เทคโนโลยี
เทคโนโลยีการศึกษา

คือ ศาสตร์ว่าด้วยวิธีการทางการศึกษา การพัฒนา และการประยุกต์วัสดุ เครื่องมือ วิธีการ เพื่อนำมาใช้ในสถานการณ์การเรียนการสอนได้อย่างเหมาะสม ทั้งนี้เพื่อประสิทธิภาพการเรียนรู้ของคนให้ดียิ่งขึ้น

เทคโนโลยีทางการศึกษา (Educational Technology) ตามรูปศัพท์ เทคโน (วิธีการ) + โลยี(วิทยา) หมายถึง ศาสตร์ที่ว่าด้วยวิธีการทางการศึกษา ครอบคลุมระบบการนำวิธีการ มาปรับปรุงประสิทธิภาพของการศึกษาให้สูงขึ้นเทคโนโลยีทางการศึกษาครอบคลุมองค์ประกอบ 3 ประการ คือ วัสดุ อุปกรณ์ และวิธีการ

สภาเทคโนโลยีทางการศึกษานานาชาติได้ให้คำจำกัดความของ เทคโนโลยีทางการศึกษา ว่าเป็นการพัฒนาและประยุกต์ระบบเทคนิคและอุปกรณ์ ให้สามารถนำมาใช้ในสถานการณ์ได้อย่างเหมาะสม เพื่อสร้างเสริมกระบวนการเรียนรู้ของคนให้ดียิ่งขึ้น

นักการศึกษาได้ตระหนักถึงความสำคัญและความจำเป็นในการพัฒนาระบบการจัดการศึกษา-การเรียนรู้ให้มีประสิทธิภาพ เพิ่มขึ้น โดยได้นำเทคโนโลยีมาใช้ เรียกว่า เทคโนโลยีการศึกษา (Educational Technology) ซึ่งนักการศึกษาได้ให้คำจำกัดความไว้ดังนี้

กิดานันท์ มลิทอง (2540) ได้ให้ความหมายว่า เทคโนโลยีการศึกษาเป็นการประยุกต์เอาแนวคิด เทคนิค วิธีการ วัสดุ อุปกรณ์ การจัดระบบสารสนเทศ และสิ่งต่าง ๆ มาใช้ในการศึกษาให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดเพื่อพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ และกระตุ้นให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ตลอดชีวิตทั้งในและนอกห้องเรียน


ดร.เปรื่อง กุมุท ได้กล่าวถึงความหมายของเทคโนโลยีการศึกษาว่า เป็นการขยายขอบข่ายของการใช้สื่อการสอน ให้กว้างขวางขึ้นทั้งในด้านบุคคล วัสดุเครื่องมือ สถานที่ และกิจกรรมต่างๆในกระบวนการเรียนการสอน

ชัยยงค์ พรหมวงศ์ (2526) ได้ให้นิยามไว้ว่า "เทคโนโลยีการศึกษา" เป็นระบบการประยุกต์ผลิตกรรมทางวิทยาศาสตร์ ได้แก่ วัสดุ และผลิตกรรมทางวิศวกรรมศาสตร์ ได้แก่ อุปกรณ์โดยยึดหลักการทางพฤติกรรมศาสตร์ ได้แก่ วิธีการ มาช่วยในการเพิ่มประสิทธิภาพทางการศึกษา ทั้งด้านการบริหาร หรืออีกนัยหนึ่ง เทคโนโลยีการศึกษา เป็นระบบการนำวัสดุ อุปกรณ์ และวิธีการมาใช้ในการปรับปรุงประสิทธิภาพการศึกษาให้สูงขึ้น

และในปี 2545 ดร.ชัยวงศ์ พรหมวงศ์ ยังได้ให้ความหมายเพิ่มเติมไว้อีกว่า " เทคโนโลยีการศึกษาเป็นศาสตร์ว่าด้วยวิธีการหรือการศึกษา เป็นเรื่องของระบบในการประยุกต์เอา เทคนิควิธีการ แนวความคิด อุปกรณ์และเครื่องมือใหม่ๆ มาใช้เพื่อช่วยแก้ปัญหาทางการศึกษา ด้านการขยายงาน และด้านการปรับปรุงคุณภาพของการเรียนการสอน"

วิจิตร ศรีสอ้าน ให้ความหมายของเทคโนโลยีการศึกษาว่า หมายถึงการประยุกต์เอาเทคนิค วิธีการ แนวความคิด อุปกรณ์และเครื่องมือใหม่ๆมาใช้เพื่อช่วยแก้ปัญหาทางการศึกษา ทั้งด้านการขยายงานและด้านการปรับปรุงคุณภาพการเรียนการสอน ดังนั้น เทคโนโลยีจึงครอบคลุมขอบข่ายสำคัญๆ 3 ประการคือ
1. การนำเอาเครื่องมือและอุปกรณ์ใหม่ๆ มาใช้ประกอบในการเรียนการสอน ได้แก่ การนำเครื่องจักรกลไกและเทคโนโลยีทั้งหลายมาใช้ เช่น เครื่องฉายภาพต่างๆ เครื่องเสียงต่างๆ คอมพิวเตอร์
2. การผลิตวัสดุการสอน เช่นภาพถ่าย แผนที่แผนภูมิ รวมถึงเอกสาร ตำรา วัสดุสิ่งพิมพ์และแบบเรียนสำเร็จรูป เป็นต้น
3. การใช้เทคนิคและวิธีการใหม่ๆ นอกจากเครื่องมืออุปกรณ์และวัสดุการสอนข้างต้นแล้ว เทคโนโลยียังมีขอบข่ายคลอบคลุมถึงการใช้เทคนิควิธีการใหม่ๆ ในการเรียนการสอนด้วย เช่น ชุดการเรียนการสอนสำเร็จรูป ศูนย์การเรียน แหล่งการสืบค้น และการจัดตารางสอนแบบยืดหยุ่น การสอนโดยยึดผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง

สันทัด และ พิมพ์ใจ (2525) กล่าวว่า เทคโนโลยีการศึกษา หมายถึง การนำเอาความรู้แนวความคิด กระบวนการ ตลอดจนวัสดุและอุปกรณ์ต่างๆ มาใช้ร่วมกันอย่างมีระบบ เพื่อแก้ปัญหาและพัฒนาการศึกษาให้ก้าวหน้าต่อไปอย่างมีประสิทธิภาพ

คาร์เตอร์ วี กูด (Carter V.Good, 1973) ได้กล่าวว่า " เทคโนโลยีการศึกษา " หมายถึงการนำหลักการทางวิทยาศาสตร์มาประยุกต์ใช้ เพื่อการออกแบบ และส่งเสริมระบบการเรียนการสอน โดยเน้นที่วัตถุประสงค์ทางการศึกษาที่สามารถวัดได้อย่างถูกต้องแน่นอน มีการยึดผู้เรียนเป็นศูนย์กลางการเรียน มากกว่าที่จะยึดเนื้อหาวิชา มีการใช้การศึกษาเชิงปฏิบัติ โดยผ่านการวิเคราะห์และการใช้เครื่องมือโสตทัศนูปกรณ์ รวมถึงเทคนิคการสอนโดยใช้อุปกรณ์ต่างๆ เช่น เครื่องคอมพิวเตอร์ สื่อการสอนต่างๆ ในลักษณะของสื่อประสม และการศึกษาด้วยตนเอง

Edgar Dale กล่าวว่า เทคโนโลยีทางการศึกษา ไม่ใช่เครื่องมือ แต่เป็นแผนการหรือวิธีการทำงานอย่างเป็นระบบ ให้บรรลุผลตามแผนการ

Gane and Briggs (1974) กล่าวว่า เทคโนโลยีการศึกษา พัฒนาจากการออกแบบการเรียนการสอนรูปแบบต่าง ๆ ที่สัมพันธ์กับพฤติกรรมศาสตร์ ทฤษฎีการเรียนรู้ เทคโนโลยีด้านวิทยาศาสตร์กายภาพ และความสนใจในเรียนรู้ของแต่ละบุคคล
Good C. (1963 :592) กล่าวว่า เทคโนโลยีการศึกษา หมายถึง การประยุกต์หลักการทางวิทยาศาสตร์ และเครื่องมือของระบบการสอนเพื่อนำมาใช้ในการเรียนการสอน
Good C. (1973) กล่าวว่า
เทคโนโลยีการศึกษาหมายถึง การนำหลักการทางวิทยาศาสตร์มาประยุกต์ใช้เพื่อการออกแบบ และส่งเสริมระบบการเรียนการสอน โดยเน้นที่วัตถุประสงค์ทางการศึกษาที่สามารถวัดได้อย่างถูกต้องแน่นอน มีการยึดหลักผู้เรียนเป็นศูนย์กลางการเรียนมากกว่า ยึดเนื้อหาวิชามีการใช้การศึกษาเชิงปฏิบัติโดยผ่านการวิเคราะห์ และการใช้โสตทัศนูปกรณ์รวมถึงเทคนิคการสอนโดยใช้คอมพิวเตอร์ และอุปกรณ์อื่น ๆ

Heinic, Molenda and Russel (2000)กล่าวว่า
เทคโนโลยีการศึกษาเป็นการให้ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ เกี่ยวกับการเรียนรู้ของมนุษย์ให้ปฏิบัติได้ในรูปแบบของการเรียนการสอน อีกนัยหนึ่งก็คือ การให้ความรู้ทางวิทยาศาสตร์(ทั้งด้านยุทธวิธี และด้านเทคนิค) เพื่อแก้ปัญหาทางการสอน เป็นความพยายามสร้างการสอนให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยออกแบบ ดำเนินการและการประเมินผลการเรียนการสอนอย่างเป็นระบบบนพื้นฐานของการศึกษาวิจัยในการเรียนและการสื่อสาร



คณะกรรมการกำหนดศัพท์และความหมายของสมาคมเทคโนโลยี และสื่อสารการศึกษาของสหรัฐอเมริกา (AECT) ซึ่งได้กำหนดคำอธิบายความหมาย โดยปรับปรุง เปลี่ยนแปลงไปตามพัฒนาการในแต่ละช่วง เช่น

ในปี 1977ได้ให้คำอธิบายไว้ว่า เทคโนโลยีการศึกษาเป็นสิ่งที่ซับซ้อน เป็นกระบวนการบูรณาการที่เกี่ยวกับมนุษย์ วิธีดำเนินการ แนวคิด เครื่องมือ และอุปกรณ์ เพื่อการวิเคราะห์ปัญหา การคิดวิธีการนำไปใช้ การประเมินและการจัดแนวทางการแก้ปัญหา ในส่วนที่เกี่ยวกับการเรียนรู้ทั้งมวลของมนุษย์
ในปี 1979 ให้คำอธิบายว่า " เทคโนโลยีการศึกษา " (Educational Technology)เป็นกระบวนการที่มีการบูรณาการอย่างซับซ้อน เกี่ยวกับบุคคล กรรมวิธี แนวคิด เครื่องมือ และองค์กร เพื่อนำไปใช้ในการวิเคราะห์ปัญหา สร้าง ประยุกต์ใช้ ประเมินผล และจัดการแก้ปัญหาต่างๆ ดังกล่าวที่เกี่ยวข้องกับการเรียนรู้ของมนุษย์ในทุกลักษณะ หรืออาจกล่าวได้ว่า "เทคโนโลยีการศึกษา" และขั้นตอนการแก้ปัญหาต่างๆ จะอยู่ในรวมถึงแหล่งการเรียนรู้ที่ได้มีการออกแบบ เลือก และนำมาใช้เพื่อใช้ การเรียนรู้ นั่นเอง
AECT(Association for Educational Communication and Technology)

จากความหมายของสมาคมเทคโนโลยีและสื่อสารการศึกษาของสหรัฐอเมริกา ดังกล่าวข้างต้น ได้มีการขยายแนวคิด เกี่ยวกับ เทคโนโลยีการศึกษา เพราะการเปลี่ยนแปลง อันเนื่องมาจากการเปลี่ยนกระบวนทัศน์จากพื้นฐานทางทฤษฎีพฤติกรรมนิยม (Behaviorism) มาสู่พุทธิปัญญานิยม(Cognitivism) และรังสรรคนิยม(Constructivism) ประกอบทั้งความเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีใหม่ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งคอมพิวเตอร์ ได้มีการปรับเปลี่ยนความหมายเหมาะสมกับ สภาพความเปลี่ยนแปลง ดังนี้ เทคโนโลยีการศึกษา หรือเทคโนโลยีการสอน (Instructional Technology) หมายถึง ทฤษฎี และการปฏิบัติเกี่ยวกับ การออกแบบ การพัฒนา การใช้ การจัดการ และการประเมิน ของกระบวนการและแหล่งการเรียน สำหรับการเรียนรู้ (Seels,1994)

จากแนวคิดต่างๆ เกี่ยวกับ " เทคโนโลยีการศึกษา " ดังที่ได้ศึกษามานี้ อาจสรุปได้ว่า เป็นสาขาที่เกี่ยวข้องกับ กระบวนการที่มีการบูรณาการเกี่ยวกับ บุคคล กรรมวิธี แนวคิด เครื่องมือ อุปกรณ์ และองค์กร อย่างซับซ้อน โดยการวิเคราะห์ปัญหา การผลิต การนำไปใช้ และประเมินผล เพื่อแก้ปัญหาต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการเรียนรู้ของมนุษย

เทคโนโลยีการศึกษา (อังกฤษ: Educational Technology) เป็นศาสตร์ที่ประยุกต์เอาวิชาการต่างๆ มาจัดกิจกรรมการเรียนการสอน ให้ผู้เรียนสามารถเรียนรู้ตามวัตถุประสงค์ได้อย่างมีประสิทธิผล ซึ่งเกิดจากการออกแบบการสอนตามหลักการออกแบบการเรียนการสอน (Instructional Design) โดยคำนึงถึงคุณลักษณะของผู้เรียน ความเหมาะสมของสื่อที่สอดคล้องกับลักษณะเนื้อหาและความสนใจของผู้เรียน


เทคโนโลยีการศึกษา เป็นคำที่มาจากคำสองคำ คือ เทคโนโลยี ที่มีความหมายว่า เป็นศาสตร์แห่งวิธีการ ซึ่งมิได้มีความหมายว่าเป็นศาสตร์แห่งเครื่องมือเพียงอย่างเดียว แต่รวมถึง วัสดุและวิธีการด้วย เมื่อมาเชื่อมกับคำว่า การศึกษา เกิดเป็นคำใหม่ที่มีความหมายว่า การประยุกต์เครื่องมือ วัสดุและวิธีการไปส่งเสริมประสิทธิภาพการเรียนรู้ ตลอดจนการจัดสภาพแวดล้อมใหม่เพื่อการเรียนรู้

อ้างอิง : http://th.wikipedia.org/wiki


ความหมายของเทคโนโลยีการศึกษามีสองลักษณะที่เน้นหนักแตกต่างกัน คือ

1. เทคโนโลยีการศึกษา หมายถึง การประยุกต์หลักการวิทยาศาสตร์กายภาพและวิศวกรรมศาสตร์ให้เป็นวัสดุ เครื่องมือ และอุปกรณ์ต่าง ๆ ที่สามารถนำมาใช้ในการเสนอ แสดง และถ่ายทอดเนื้อหาทางการศึกษาได้อย่างมีประสิทธิภาพ ความหมายนี้พัฒนามาจากความคิดของกลุ่มนักโสต-ทัศนศึกษา

2. เทคโนโลยีการศึกษามีความหมายโดยตรงตามความหมายของเทคโนโลยี คือ ศาสตร์แห่งวิธีการ หรือการประยุกต์วิทยาศาสตร์มาใช้ในการศึกษา โดยคำว่าวิทยาศาสตร์ในที่นี้มุ่งเน้นที่วิชาพฤติกรรมศาสตร์ เพราะถือว่าพฤติกรรมศาสตร์เป็นวิทยาศาสตร์แขนงหนึ่งเช่นเดียวกับวิชาฟิสิกส์ เคมี ชีววิทยา เป็นต้น

คำว่า "เทคโนโลยีการศึกษา" แม้มีใช้มานานในแวดวงวิชาการศึกษา แต่คำนี้ได้รับความสนใจมากขึ้น เมื่อ พรบ.การศึกษา พ.ศ. 2542 กล่าวถึงเทคโนโลยีเพื่อการศึกษา ในหมวด 9 โดยมี 7 มาตรา คือ มาตรา 63 - 69 มีเนื้อหาครอบคลุมเนื้อหาการนำคลื่นความถี่วิทยุและโทรทัศน์มาใช้เพื่อการศึกษา สื่อการเรียนการสอน ซึ่งแม้ว่าใน พรบ.การศึกษาแห่งชาติ กล่าวถึง เทคโนโลยีเพื่อการศึกษา เพียงการนำสื่อสารมวลชนมาใช้เพื่อการศึกษา แต่ไม่ได้หมายความว่าเทคโนโลยีเพื่อการศึกษามีเพียงการนำสื่อสารมวลชนมาใช้เพื่อการศึกษาเท่านั้น พรบ.การศึกษาเขียนเพื่อเป็นหลักประกันหรือบังคับให้รัฐนำสื่อสารมวลชนมาใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อการศึกษา



นอกจากนี้เทคโนโลยีทางการศึกษา เป็นการขยายแนวคิดเกี่ยวกับโสตทัศนศึกษา ให้กว้างขวางยิ่งขึ้น ทั้งนี้ เนื่องจากโสตทัศนศึกษาหมายถึง การศึกษาเกี่ยวกับการใช้ตาดูหูฟัง ดังนั้นอุปกรณ์ในสมัยก่อนมักเน้นการใช้ประสาทสัมผัส ด้านการฟังและการดูเป็นหลัก จึงใช้คำว่าโสตทัศนอุปกรณ์ เทคโนโลยีทางการศึกษา มีความหมายที่กว้างกว่า ซึ่งอาจจะพิจารณาจาก ความคิดรวบยอดของเทคโนโลยีได้เป็น 2 ประการ คือ

1. ความคิดรวบยอดทางวิทยาศาสตร์กายภาพ ตามความคิดรวบยอดนี้ เทคโนโลยีทางการศึกษาหมายถึง การประยุกต์วิทยาศาสตร์กายภาพ ในรูปของสิ่งประดิษฐ์ เช่น เครื่องฉายภาพยนตร์ โทรทัศน์ ฯลฯ มาใช้สำหรับการเรียนรู้ของนักเรียนเป็นส่วนใหญ่ การใช้เครื่องมือเหล่านี้ มักคำนึงถึงเฉพาะการควบคุมให้เครื่องทำงาน มักไม่คำนึงถึงจิตวิทยาการเรียนรู้ โดยเฉพาะเรื่องความแตกต่างระหว่างบุคคล และการเลือกสื่อให้ตรงกับเนื้อหาวิชา

ความหมายของเทคโนโลยีทางการศึกษา ตามความคิดรวบยอดนี้ ทำให้บทบาทของเทคโนโลยีทางการศึกษาแคบลงไป คือมีเพียงวัสดุ และอุปกรณ์เท่านั้น ไม่รวมวิธีการ หรือปฏิกิริยาสัมพันธ์อื่น ๆ เข้าไปด้วย ซึ่งตามความหมายนี้ก็คือ โสตทัศนศึกษานั่นเอง

2. ความคิดรวบยอดทางพฤติกรรมศาสตร์ เป็นการนำวิธีการทางจิตวิทยา มนุษยวิทยา กระบวนการกลุ่ม ภาษา การสื่อความหมาย การบริหาร เครื่องยนต์กลไก การรับรู้มาใช้ควบคู่กับผลิตกรรมทางวิทยาศาสตร์และวิศวกรรม เพื่อให้ผู้เรียน เปลี่ยนพฤติกรรมการเรียนรู้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นมิใช่เพียงการใช้เครื่องมืออุปกรณ์เท่านั้น แต่รวมถึงวิธีการทางวิทยาศาสตร์เข้าไปด้วย มิใช่วัสดุ หรืออุปกรณ์ แต่เพียงอย่างเดียว



จากหลากหลายความหมายของเทคโนโลยีการศึกษา พอจะสรุปได้ว่า

เทคโนโลยีการศึกษา (Educational Technology) คือระบบ(กระบวนการ) การจัดการศึกษาที่เกิดจากการออกแบบการสอนโดยพิจารณาคุณลักษณะ ความเหมาะสมของสื่อที่สอดคล้องกับลักษณะของผู้เรียน เพื่อ ให้ผู้เรียนสามารถเรียนรู้จากเนื้อหาที่นำเสนอได้อย่างมีประสิทธิภาพ

Leave a Reply


test

สาระ เนื้อหา เรื่องราว ที่ปรากฎอยู่ในบล็อกแห่งนี้ จัดทำขึ้นเพื่อรวบรวมผลงาน แนวคิด จากการศึกษาเรียนรู้ และประสบการณ์ในการทำงาน รวมถึงการนำมาจากแหล่งข้อมูลอื่น(ซึ่งจะแจ้ง links ต้นทาง) นำมาเผยแพร่ให้กับท่านที่สนใจ ผ่านช่องทางและเวทีบล็อกแห่งนี้ หากท่านต้องการที่จะแนะนำ หรือแสดงความคิดเห็นที่เป็นประโยชน์ในการจัดทำบล็อกความรู้นี้ ติดต่อพูดคุย(ฝากข้อความ) ได้นะครับ
ขอบคุณที่กรุณาเข้าเยี่ยมชม
mediathailand