วันอาทิตย์ที่ 27 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

เทคโนโลยีการศึกษาตามพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542

0 comments
 
คงจะปฎิเสธไม่ได้เลยว่า ปัจจุบันการดำเนินการจัดการศึกษา ในสถานศึกษาต่างๆ เกือบทุกระดับ จำเป็นต้องนำเอาเทคโนโลยีมาใช้ เพื่อสนับสนุนการดำเนินการจัดการศึกษา ทั้งนี้เพื่อให้สอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลง และความเจริญก้าวหน้าของเทคโนโลยี รัฐจึงได้เน้นความสำคัญของเทคโนโลยีการศึกษา โดยกำหนดสาระหลักไว้ใน หมวด 9 แห่ง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติฉบับ พ.ศ.2542 ซึ่งในการใช้เทคโนโลยีเพื่อการศึกษานั้น หากไม่มีนโยบายหรือกฎข้อบังคับหรือแนวทางการใช้แล้ว อาจส่งผลเสียหรือก่อให้เกิดการใช้อย่างหลงทิศ หลงทาง อาจจะกลายเป็นช่องทางของ การดำเนินการจัดการศึกษาบนกรอบร่างธุรกิจ ทั้งการโฆษณาชวนเชื่อ การใช้อย่างพุ่มเฟือย อันจะส่งผลเสียต่อวิธีการศึกษาเรียนรู้ไป เรามาลองศึกษาพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติฉบับนี้ ในส่วนเทคโนโลยีการศึกษา รายมาตราว่า สาระสำคัญของแต่ละมาตรา บ่งชี้อะไรบ้าง
พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542
หมวด 1 บททั่วไป
หมวด 2 สิทธิและหน้าที่ทางการศึกษา
หมวด 3 ระบบการศึกษา
หมวด 4 แนวการจัดการศึกษา
หมวด 5 การบริหารและการจัดการศึกษา
              ส่วนที่ 1 การบริหารและการจัดการศึกษาของรัฐ
              ส่วนที่ 2 การบริหารและการจัดการศึกษาขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
              ส่วนที่ 3 การบริหารและการจัดการศึกษาของเอกชน
หมวด 6 มาตรฐานและการประกันคุณภาพการศึกษา
หมวด 7 ครู คณาจารย์ และบุคลากรทางการศึกษา
หมวด 8 ทรัพยากรและการลงทุนเพื่อการศึกษา
หมวด 9 เทคโนโลยีเพื่อการศึกษา
บทเฉพาะกาล
ดาวน์โหลดฉบับเต็มเพื่อใช้ศึกษาเพิ่มเติม

 สาระสำคัญมาตราใน หมวด 9 เทคโนโลยีเพื่อการศึกษา มี ดังนี้

มาตรา 63 รัฐต้องจัดสรรคลื่นความถี่ สื่อตัวนำและโครงสร้างพื้นฐานอื่นที่จำเป็นต่อการส่งวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ วิทยุโทรคมนาคม และการสื่อสารในรูปอื่น เพื่อใช้ประโยชน์สำหรับการศึกษาในระบบ การศึกษานอกระบบ การศึกษาตามอัธยาศัย การทะนุบำรุงศาสนา ศิลปและวัฒนธรรมตามความจำเป็น

มาตรา 64
รัฐต้องส่งเสริมและสนับสนุนให้มีการผลิต และพัฒนาแบบเรียน ตำราหนังสือทาง วิชาการ สื่อสิ่งพิมพ์ วัสดุอุปกรณ์และเทคโนโลยีเพื่อการศึกษาอื่น โดยเร่งรัดพัฒนาขีดความสามารถในการผลิต จัดให้มีเงินสนับสนุนการผลิตและมีการให้แรงจูงใจแก่ผู้ผลิตและพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อการศึกษา ทั้งนี้ โดยเปิดให้มีการแข่งขันโดยเสรีอย่างเป็นธรรม

มาตรา 65 ให้มีการพัฒนาบุคลากรทั้งด้านผู้ผลิต และผู้ใช้เทคโนโลยีเพื่อการศึกษา เพื่อให้มีความรู้ ความสามารถ และทักษะในการผลิต รวมทั้งการใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสม มีคุณภาพ และประสิทธิภาพ

มาตรา 66 ผู้เรียนมีสิทธิได้รับการพัฒนาขีดความสามารถ ในการใช้ เทคโนโลยีเพื่อการศึกษาในโอกาสแรกที่ทำได้เพื่อให้มีความรู้ และทักษะเพียงพอที่จะใช้เทคโนโลยีเพื่อการศึกษาในการแสวงหาความรู้ด้วยตนเองได้อย่างต่อเนื่องตลอดชีวิต

มาตรา 67 รัฐต้องส่งเสริมให้มีการวิจัยและพัฒนาการผลิต และพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อการศึกษา รวมทั้งการติดตาม ตรวจสอบและประเมินผลการใช้เทคโนโลยีเพื่อการศึกษา เพื่อให้เกิดการใช้ที่คุ้มค่าและเหมาะสมกับกระบวนการเรียนรู้ของคนไทย

มาตรา 68 ให้มีการระดมทุน เพื่อจัดตั้งกองทุนพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อการศึกษาจากเงินอุดหนุนของรัฐ ค่าสัมปทาน และผลกำไรที่ได้จาการดำเนินกิจการด้านสื่อมวลชน เทคโนโลยีสารสนเทศ และโทรคมนาคมจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และองค์กรประชาชน รวมทั้งให้มีการลดอัตราค่าบริการเป็นพิเศษ ในการใช้เทคโนโลยีดังกล่าวเพื่อการพัฒนาคนและสังคม หลักเกณฑ์และวิธีการจัดสรรเงินกองทุนเพื่อการผลิต การวิจัยและการพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อการศึกษา ให้เป็นไปตามที่กำหนดในกฎกระทรวง

มาตรา 69 จัดให้มีหน่วยงานกลางทำหน้าที่พิจารณาเสนอนโยบาย แผนส่งเสริม และประสานการวิจัย การพัฒนาและการใช้ รวมทั้งการประเมินคุณภาพและประสิทธิภาพของการผลิตและการใช้เทคโนโลยีเพื่อการศึกษา

ตามนัยของหมวด 9 ซึ่งเป็นหมวดหลักที่ว่าด้วยเทคโนโลยีเพื่อการศึกษา ประกอบด้วย 7 มาตรา คือ มาตรา 63 ถึง มาตรา 69 สาระสำคัญที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีเพื่อการศึกษาได้แก่ การจัดการศึกษาทั้ง 3 ระบบ คือ การศึกษาในระบบ การศึกษานอกระบบ และการศึกษาตามอัธยาศัย ต้องมีความลื่นไหลต่อเนื่องกัน สามารถถ่ายโอนผลการเรียนระหว่างกันได้ ครอบคลุมการจัดและออกแบบระบบพฤติกรรม เทคนิควิธีการ การสื่อสาร การจัดสภาพแวดล้อม การจัดการเรียนการสอน และการประเมิน เทคโนโลยีเพื่อการศึกษา การผลิต การใช้การพัฒนาสื่อสารมวลชน (ได้แก่ สื่อสิ่งพิมพ์ วิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์) เทคโนโลยีสารสนเทศ ( คอมพิวเตอร์ อินเตอร์เน็ต มัลติมีเดีย) และโทรคมนาคม (โทรศัพท์ เครือข่ายโทรคมนาคม การสื่อสารอื่น ๆ) รวมถึงมีรูปแบบที่ประสมประสานเพื่อให้เป็นการศึกษาตลอดชีวิต (Life long education)


ดังนั้น เทคโนโลยีเพื่อการศึกษาตามหมวดที่ 9 จะต้องเป็นเทคโนโลยีที่สามารถตอบสนองกระบวนการเรียนรู้ได้ ตามความต้องการของผู้เรียนในทุกเวลา ทุกสถานที่ และทุกวิธีการ
สาระสำคัญทั้ง 7 มาตรานี้ พอสรุปได้ใน 3 ประการหลัก คือ
ประการแรก รัฐต้องจัดโครงสร้างพื้นฐานทางเทคโนโลยีสารสนเทศ ได้แก่ ช่องทางและสื่อโทรคมนาคมเพื่อการศึกษาในทุกๆประเภท
ประการที่สอง รัฐต้องจัดให้มีโครงสร้างและหน่วยงานเฉพาะ เพื่อรับผิดชอบด้านเทคโนโลยีเพื่อการศึกษา
ประการที่สาม รัฐต้องส่งเสริมบุคลากรทางการศึกษาตลอดทั้งประชาชนให้มีขีดความสามารถในการผลิต และการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและเทคโนโลยีเพื่อการศึกษา เพื่อก้าวสู่ยุค สังคมแห่งการเรียนรู้และปัจจัยเกื้อหนุนให้บุคคลเรียนรู้อย่างต่อเนื่องตลอดชีวิต

Leave a Reply


test

สาระ เนื้อหา เรื่องราว ที่ปรากฎอยู่ในบล็อกแห่งนี้ จัดทำขึ้นเพื่อรวบรวมผลงาน แนวคิด จากการศึกษาเรียนรู้ และประสบการณ์ในการทำงาน รวมถึงการนำมาจากแหล่งข้อมูลอื่น(ซึ่งจะแจ้ง links ต้นทาง) นำมาเผยแพร่ให้กับท่านที่สนใจ ผ่านช่องทางและเวทีบล็อกแห่งนี้ หากท่านต้องการที่จะแนะนำ หรือแสดงความคิดเห็นที่เป็นประโยชน์ในการจัดทำบล็อกความรู้นี้ ติดต่อพูดคุย(ฝากข้อความ) ได้นะครับ
ขอบคุณที่กรุณาเข้าเยี่ยมชม
mediathailand