วันเสาร์ที่ 26 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

6.12 แนวคิด"คิดเป็น" ของ ดร. โกวิท วรพิพัฒน์

0 comments
 
“การศึกษาคือกระบวนการที่ทำให้คนและสังคมเจริญงอกงาม ยิ่งเรียนยิ่งขยัน ยิ่งเรียนยิ่งอดทน ยิ่งเรียนยิ่งซื่อสัตย์ ยิ่งเรียนยิ่งมีความกตัญญู ยิ่งเรียนยิ่งรักปู่ย่าตายาย ดูแลปู่ย่าตายาย ไปไหนก็ดูแลซึ่งกันและกัน บ้านเมืองก็จะมีแต่ความสุข” เนื้อหาในส่วนนี้ได้รวบรวมสาระ แนวคิด บทความของท่าน ดร.โกวิท วรพิพัฒน์ ที่เป็นผู้ให้นิยาม คำว่า คิดเป็น"กระบวนการคิดเพื่อตัดสินใจ" โดยใช้ข้อมูล 3 ด้าน คือ ข้อมูลส่วนตัว ข้อมูลทาง สังคมหรือสิ่งแวดล้อม และข้อมูลทางวิชาการ ปรัชญา "คิดเป็น" มีรายละเอียดและสาระที่น่าศึกษา

แนวคิด"คิดเป็น" ของ ดร. โกวิท วรพิพัฒน์
ดร.โกวิท วรพิพัฒน์และคณะ ได้ประยุกต์แนวความคิดในเรื่อง“คิดเป็น” และนำมาเป็นเป้าหมายสำคัญในการให้บริการการศึกษาผู้ใหญ่ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2513 เป็นต้นมาดดยมีหลักการที่เป็นหัวใจสำคัญดังนี้ การวิเคราะห์ปัญหาและแสวงหาคำตอบหรือทางเลือกเพื่อแก้ปัญหา คิดอย่างรอบคอบโดยอาศัยข้อมูลตนเอง ข้อมูลสังคม สิ่งแวดล้อมและข้อมูลทางวิชาการประกอบการตัดสินใจ แก้ปัญหาหรือหาทางเลือกเพื่อนำไปปฏิบัติ รู้จักคิดเพื่อแก้ปัญหา ด้วยการกระทำการอย่างเหมาะสมและพอดี
จากหลักการดังที่กล่าวมา พอจะสรูปความหมายของคำว่า คิดเป็น ดังนี้

"คิดเป็น" หมายถึง กระบวนการที่คนเรานำมาใช้ในการตัดสินใจ โดยต้องแสวงหาข้อมูลของตนเอง ข้อมูลของสภาพแวดล้อมในชุมชนและสังคม และข้อมูลทางหลักวิชาการ แล้วนำมาวิเคราะห์หาทางเลือกในการตัดสินใจที่เหมาะสม มีความพอดีระหว่างตนเองและสังคม

เมื่อครั้งดร.โกวิท วรพิพัฒน์ ปฏิบัติงานในตำแหน่งหัวหน้ากองการศึกษาผู้ใหญ่ กรมสามัญศึกษา (ระหว่างปี พ.ศ.2511-2518) ท่านได้ริเริ่มโครงการการศึกษาผู้ใหญ่แบบเบ็ดเสร็จ (Functional Literacy) แบบไทย มุ่งให้ผู้เข้ารับการศึกษาระดับชาวบ้านได้รู้จักคิดแก้ไขปัญหา ให้สอดคล้องกับสภาพสถานะของตน และของกลุ่มที่เรียกว่า "คิดเป็น" โดยมีหลักการว่า เรียนแล้วสามารถนำข้อมูลทางวิชาการ ข้อมูลข้อจำกัดส่วนตัวของแต่ละบุคคล และข้อมูลเกี่ยวกับสังคม มาประมวลแล้วคิดหาคำตอบให้กับปัญหาของแต่ละคนหรือสังคม ซึ่งจะได้คำตอบที่หลากหลายและตรงกับสภาพของแต่ละบุคคลหรือสังคม ไม่ใช่ว่าหนังสือบอกไว้อย่างไรแล้วต้องทำตามเหมือนกันหมด คิดเองไม่เป็น แต่ถ้าคิดเป็นแล้วคำถามหรือปัญหาเดียวกันอาจได้คำตอบไม่เหมือนกันก็เป็นได้

ผลสำเร็จของโครงการ "คิดเป็น" ทำให้ ดร.โกวิท วรพิพัฒน์ ได้รับเชิญจากองค์การยูเนสโกให้ไปเสนอผลงานดังกล่าว ที่ประเทศสหรัฐอเมริกา ปรากฏว่าได้รับความสนใจจากประเทศต่างๆ อย่างมาก จนองค์การยูเนสโกนำเรื่องนี้ ไปเผยแพร่ทั่วโลก ทำให้ ดร.โกวิทได้รับฉายาจากต่างประเทศว่า "นายคิดเป็น" (Mr.Khit Pen)


ศึกษาแนวคิดของ ดร. โกวิท วรพิพัฒน์ เพิ่มเติม จากรายการด้านล่าง

นอกจากนี้ยังมีหนังสือ ของ ดร.โกวิท วรพิพัฒน์ ที่ได้แต่งไว้อีกหลายเล่ม ซึ่งแต่ละเล่มแฝงด้วยปรัชญา คิดเป็น ที่น่าสนใจอย่างยิ่ง ลองค้นหาจากห้องสมุดประชาชนทั่วไป หรือที่ห้องสมุด วังจันทร์เกษม ในกระทรวงศึกษาธิการ
  •  ยอดคน… ยอดผู้นำ (2544)
  •  ท่านโกวิทจะอยู่ไม่มีตาย (2544)
  •  เทป… แผ่นดินไทยเรานี้เลี้ยงเราได้ (2544)
  •  โกวิท… นักคิดตลอดกาล (2544)
  •  ไทรทอดเงา (2537)
  •  กระบวนการคิดเป็น (2537)
  •  ดร.โกวิท วรพิพัฒน์ สุภาพบุรุษนักบริหารการศึกษาที่เป็น แบบอย่าง ( 2537 )
  •  ไผ่เสียดยอดลงคืนเลาขลุ่ย (2538)
  •  โรงเรียนในฝัน (2538)
  •  ตามรอย (2538)
จากแนวคิดปรัชญา คิดเป็น ถือได้ว่าเป็นปรัชญาที่นำไปสู่การเรียนรู้ที่ยั่งยืน ซึ่งสถาบันการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยภาคเหนือ ได้เล็งเห็นถึงคุณค่า จึงได้รวบรวมผลงานของ ดร.โกวิท วรพิพัฒน์ จัดทำเป็นศูนย์การเรียนรู้ ดร.โกวิท วรพิพัฒน์ โดยเปิดให้เข้าศึกษาเรียนรู้ได้ทุกวัน

Leave a Reply


test

สาระ เนื้อหา เรื่องราว ที่ปรากฎอยู่ในบล็อกแห่งนี้ จัดทำขึ้นเพื่อรวบรวมผลงาน แนวคิด จากการศึกษาเรียนรู้ และประสบการณ์ในการทำงาน รวมถึงการนำมาจากแหล่งข้อมูลอื่น(ซึ่งจะแจ้ง links ต้นทาง) นำมาเผยแพร่ให้กับท่านที่สนใจ ผ่านช่องทางและเวทีบล็อกแห่งนี้ หากท่านต้องการที่จะแนะนำ หรือแสดงความคิดเห็นที่เป็นประโยชน์ในการจัดทำบล็อกความรู้นี้ ติดต่อพูดคุย(ฝากข้อความ) ได้นะครับ
ขอบคุณที่กรุณาเข้าเยี่ยมชม
mediathailand