วันเสาร์ที่ 26 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

6.7 แนวคิด"การศึกษาตลอดชีวิต"ในการจัดการศึกษาและการเรียนรู้

0 comments
 
การศึกษา (Education)ในมาตรา 4 ของพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542 นิยาม ความหมายของการศึกษา มีความหมายว่า "กระบวนการเรียนรู้เพื่อความเจริญงอกงามของบุคคลและสังคมโดยการถ่ายทอดความรู้ การฝึก การอบรม การสืบสานทางวัฒนธรรมการสร้างสรรค์จรรโลงความก้าวหน้าทางวิชาการ การสร้างองค์ความรู้อันเกิดจากการจัดสภาพแวดล้อม สังคมการเรียนรู้ และปัจจัยเกื้อหนุนให้บุคคลเรียนรู้อย่างต่อเนื่องตลอดชีวิต" และมาตรา 15 ได้กำหนดระบบการศึกษา ในการจัดการศึกษามีสามรูปแบบ คือ การศึกษาในระบบ การศึกษานอกระบบ และการศึกษาตามอัธยาศัย


การศึกษาตลอดชีวิต

Phillip H. Coombs (ผู้เขียนหนังสือ The World Crisis in Education : The View from the Eighties) พบว่ารูปแบบการศึกษาในระบบโรงเรียนของประเทศด้อยพัฒนา และประเทศกำลังพัฒนา ไม่สามารถให้บริการแก่ประชาชน ได้อย่างทั่วถึงทำให้เกิดวิกฤตการณ์ทางการศึกษา (Educational Crisis) เพราะประชาชนที่มีฐานะดีเท่านั้นที่มีโอกาสได้รับการศึกษา ส่วนคนยากจนจะขาดโอกาสในการศึกษา แม้รัฐบาลต่างๆ ได้ทุ่มเทงบประมาณด้านการศึกษาสูงมากก็ตาม แต่การศึกษาไม่สามารถช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตการศึกษาของประชาชน โดยเฉพาะผู้อยู่ในท้องถิ่นห่างไกล รัฐบาลยิ่งพัฒนาคนรวยกลับรวยยิ่งขึ้น คนจนกลับจนลง จึงทำให้มีการเรียกร้องให้มีการปฏิรูปการศึกษา หมายเหตุ : หนังสือที่กล่าวถึงในข้างบน แปลเป็นภาษาไทยในชื่อ วิกฤตการณ์ของโลกในทางการศึกษา: ทัศนะในทศวรรษ 1980 ซึ่งเป็นหนังสือแปล อันดับที่ 87 ของ กรมวิชาการ กระทรวงศึกษาธิการ กรุงเทพฯ ปี 2535 โดย ดร. ก่อ สวัสดิพาณิชย์

นักปฏิรูปการศึกษา อาทิ เปาโล แฟร์ (Paulo Freire) ชาวบราซิล เขียนเรื่อง "การศึกษาของผู้ที่ถูกกดขี่" (Pedagogy of the Oppressed) อีวาน อีลิช (Ivan Ilich) เขียนเรื่อง "โรงเรียนตายแล้ว" (Deschooling Society) และ Faure เขียนเรื่อง "Learning to be" ให้กับองค์กร Unesco เสนอว่าควรจะปฏิรูประบบการศึกษาในโรงเรียน มาเป็นการศึกษานอกโรงเรียน และส่งเสริมให้ทุกคนสามารถเรียนรู้ตลอดชีวิต ทั้งนี้ เนื่องจากความเจริญก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ทำให้รูปแบบการดำรงชีวิตของมนุษย์เปลี่ยนแปลงไป โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในสังคมอุตสาหกรรม ที่ได้มีการนำเทคโนโลยี เครื่องจักร เครื่องคอมพิวเตอร์มาใช้แทนแรงงาน ทำให้เป็นสาเหตุหนึ่งของวิกฤตการณ์ตลาดแรงงาน มนุษย์เราจึงต้องแสวงหาความรู้ใหม่ๆ เพื่อที่จะได้ก้าวทันโลกที่เปลี่ยนแปลง การเรียนรู้ของคนเราจึงไม่หยุดเพียงที่โรงเรียน หรือมหาวิทยาลัย แต่เราสามารถเรียนรู้ได้ตลอดเวลา มนุษย์เรียนรู้ตั้งแต่แรกเกิดจนถึงช่วงสุดท้ายของชีวิต นั้นคือการรวมเอาการศึกษาในระบบโรงเรียน (Formal Education) นอกระบบโรงเรียน (Informal Education)เข้าด้วยกัน คนเราสามารถเลือกศึกษาได้ในช่วงเวลาต่างๆ ของชีวิตตามความเหมาะสม การศึกษา และการเรียนรู้เกิดขึ้นได้ทุกแห่งไม่ว่าจะ ในครอบครัว วัด ชุมชน สถาบันการศึกษา สถานประกอบการ และแหล่งวิชาต่างๆ การศึกษาและการเรียนรู้ตลอดชีวิตกลายเป็นความจำเป็นของมนุษย์ปัจจุบัน


แนวคิดเกี่ยวกับการศึกษาตลอดชีวิต
การศึกษาตลอดชีวิต เป็นแนวความคิด ที่ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางในวงการศึกษาปัจจุบัน แท้จริงแล้วแนวคิดการศึกษาตลอดชีวิตมิใช่เรื่องใหม่ แต่มีมานานแล้วในคัมภีร์กุรอานมีคำสอนว่า บุคคลพึงเรียนรู้ตั้งแต่อยู่ในเปลถึงหลุมฝังศพ (From cradle to grave) หรือจากครรภ์มารดาถึงสุสาน(From womb to tomb) คอมินิอุส (Comenius) นักศึกษาในสมัยนั้น ได้พูดถึงรายละเอียดของกระบวนการศึกษาตลอดชีวิตว่า ควรจัดให้มีโรงเรียน สำหรับทุกคน กล่าวคือ โรงเรียนสำหรับทารกแรกเกิด เด็กก่อนวัยเรียน เด็กเยาวชนวัยเรียน คนหนุ่มสาว และคนชรา ในช่วง 60 กว่าปีที่ผ่านมานี้ได้มีการเผยแพร่เรื่องเหล่านี้เป็นภาษาอังกฤษ และเพิ่มความสนใจไปสู่ทั่วโลก ในการประชุมระหว่างชาติว่าด้วยการศึกษาผู้ใหญ่ (World Conference on Adult Education) ที่จัดโดย Unesco ที่กรุงมอนตรีอัล ประเทศแคนาดา ค.ศ.1960 ที่กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ค.ศ.1972 และที่กรุงไนโรบี ค.ศ.1986 ได้พัฒนาแนวคิดการศึกษาตลอดชีวิต อันมีสาระสำคัญดังนี้
  1. มนุษย์แสวงหาความรู้ และพัฒนาตนเองอยู่ตลอดเวลา เพราะมนุษย์เราเรียนรู้จากธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม และสังคมทุกขณะ เช่น จากการ ทำมาหากิน การเล่น การพักผ่อน การเข้าร่วมพิธีกรรม และการสมาคม เป็นต้น
  2. การศึกษาที่แท้จริงไม่ได้จำกัดแต่เพียงในโรงเรียนแต่ครอบคลุมถึง การศึกษานอกโรงเรียน การศึกษาตามอัธยาศัย การศึกษาเกิดได้ตามโอกาส จึงไม่มี วันสิ้นสุด 3. การศึกษาตลอดชีวิตเปิดโอกาสให้คนทั่วไปได้รับการศึกษา เพราะสามารถเลือกเรียนตามรูปแบบที่ตนต้องการ ยืดหยุ่นได้ตามโอกาส ทุกคน สามารถ เรียนรู้ได้จากทุกแห่งตามโอกาสจะอำนวย ฉะนั้น มนุษย์จึงมีโอกาสที่จะพัฒนาชีวิตให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น โดยการศึกษาอย่างไม่มีจุดจบไปตลอดชีวิต

Leave a Reply


test

สาระ เนื้อหา เรื่องราว ที่ปรากฎอยู่ในบล็อกแห่งนี้ จัดทำขึ้นเพื่อรวบรวมผลงาน แนวคิด จากการศึกษาเรียนรู้ และประสบการณ์ในการทำงาน รวมถึงการนำมาจากแหล่งข้อมูลอื่น(ซึ่งจะแจ้ง links ต้นทาง) นำมาเผยแพร่ให้กับท่านที่สนใจ ผ่านช่องทางและเวทีบล็อกแห่งนี้ หากท่านต้องการที่จะแนะนำ หรือแสดงความคิดเห็นที่เป็นประโยชน์ในการจัดทำบล็อกความรู้นี้ ติดต่อพูดคุย(ฝากข้อความ) ได้นะครับ
ขอบคุณที่กรุณาเข้าเยี่ยมชม
mediathailand