วันเสาร์ที่ 26 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

6.8 คุณค่าและความจำเป็นของการศึกษาตลอดชีวิต

0 comments
 
ในยุคโลกาภิวัตน์ความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ สังคม และเทคโนโลยีเป็นไปอย่างรวดเร็ว มีผลกระทบในทางบวกและทางลบต่อชีวิตและความเป็นอยู่ของบุคคลอย่างรุนแรง บุคคลจึงจำเป็นต้องพัฒนาตนเองให้มีความรู้ ความคิด และทักษะชีวิตให้สามารถแก้ปัญหาและพัฒนาคุณภาพชีวิตได้อย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่เกิดจนตาย โดยสังคมมีส่วนร่วมในการจัดการเรียนรู้ การพัฒนาสาระและกระบวนการเรียนรู้อย่างต่อเนื่องตลอดชีวิต ความหมายของการศึกษาตลอดชีวิต การศึกษาตลอดชีวิต หมายถึง การศึกษาที่เกิดจากการผสมผสานระหว่างการศึกษาในระบบ การศึกษานอกระบบ และการศึกษาตามอัธยาศัย เพื่อให้สามารถพัฒนาคุณภาพชีวิตได้อย่างต่อเนื่องตลอดชีวิต


คุณค่าและความจำเป็นของการศึกษาตลอดชีวิต มีดังนี้
  1. ในยุคที่เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะในด้านเทคโนโลยีและข่าวสาร จำเป็นต้องพัฒนาประชาชนให้สามารถที่จะใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีและข่าวสาร ในการแก้ปัญหาและพัฒนาคุณภาพชีวิตได้อย่างมีประสิทธิภาพ ความสามารถดังกล่าวนี้ จักต้องได้รับการพัฒนาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่เกิดจนตาย
  2. ในปัจจุบันนี้ ลำพังทรัพยากรทางการศึกษาที่มีอยู่ในความรับผิดชอบของรัฐบาล ไม่เพียงพอที่จะพัฒนาคุณภาพของประชาชน ให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงได้ จึงจำเป็นที่จะต้องระดมทรัพยากรทางการศึกษาที่มีอยู่อย่างมหาศาลในภาคเอกชนและประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ภูมิปัญญาที่มีอยู่ในท้องถิ่นทั่วประเทศ มาใช้ประโยชน์ในการจัดการพัฒนาคุณภาพของประชาชนอย่างกว้างขวาง โดยมีผู้เป็นเจ้าของทรัพยากรอันทรงคุณค่าดังกล่าว เป็นผู้เข้ามามีบทบาทในการดำเนินงานอย่างเต็มที่เป็นการเสริมสร้างสัมพันธภาพระหว่าง ภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน
  3. ปัจจุบันนี้ สังคมได้มองข้ามบุคลากรที่ทรงคุณค่าทางการศึกษาซึ่งมีอยู่เป็นจำนวนมากในชุมชนต่าง ๆ อันได้แก่ ข้าราชการที่เกษียณอายุและผู้รู้ที่มีอยู่ในท้องถิ่น เช่น พระสงฆ์ ผู้สูงอายุ ภูมิปัญญาท้องถิ่น บุคคลอันทรงคุณค่าดังกล่าวนี้ ควรที่จะได้รับการส่งเสริมให้เข้ามามีส่วนร่วม ในการหล่อหลอมและพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนอย่างเต็มที่
  4. เมื่อวิเคราะห์จนถึงที่สุดแล้ว หัวใจในความสำเร็จของการกระจายอำนาจหรือกระจาย ความเจริญไปสู่ท้องถิ่น ย่อมจะขึ้นอยู่กับคุณภาพของคนในท้องถิ่นเป็นสำคัญ คุณภาพดังกล่าวนี้จักเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อคนในท้องถิ่น ได้รับการพัฒนาด้านความรู้ ความคิด และความสามารถอย่างต่อเนื่อง อันจะยังผลให้เกิดอำนาจต่อรองขึ้นโดยธรรมชาติ ทำให้สามารถเรียกร้องพิทักษ์สิทธิผลประโยชน์ ตลอดจนสามารถมีส่วนร่วมในการตัดสินใจด้านการเมืองการปกครองตามระบอบประชาธิปไตยได้อย่างมีประสิทธิภาพ และประสิทธิผล
  5. แนวทางการจัดการศึกษาตลอดชีวิต จักช่วยให้ปรับเปลี่ยน และกำหนดสัมพันธภาพระหว่างการศึกษาในโรงเรียน การศึกษานอกโรงเรียนและการศึกษาตามอัธยาศัย โดยให้ความสำคัญเป็นพิเศษต่อการศึกษาตามอัธยาศัย เพราะเป็นกระบวนการที่ส่งเสริมให้แต่ละคน สามารถใช้ประโยชน์จากการประกอบกิจกรรมต่าง ๆ ในชีวิตประจำวันเพื่อพัฒนาความรู้ ความคิด และความสามารถของตนเองได้อย่างกว้างขวาง และดำเนินต่อเนื่องไปตลอดชีวิต ผู้ที่กำลังศึกษาอยู่ในระบบ และนอกระบบ หรือแม้แต่ผู้ที่ผ่านการศึกษาในระบบและนอกระบบมาแล้ว ก็ยังมีความจำเป็นต้องมีการศึกษาตามอัธยาศัยสืบเนื่องต่อไปตลอดชีวิตเช่นกัน
                        
  6. การส่งเสริมการศึกษาตลอดชีวิต เป็นการคืนการศึกษาให้แก่ชุมชนอันหลากหลาย เพราะชุมชนจักมีโอกาสได้ฟื้นฟูและพัฒนากระบวนการจัดการศึกษาของชุมชน (Indigenous Education) ตลอดจนฟื้นฟูและพัฒนาภูมิปัญญาของชุมชนให้มีคุณค่า และมีความหมายต่อการแก้ปัญหาและพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนในชุมชนได้อย่างเหมาะสมกับยุคสมัย
  7. การส่งเสริมการศึกษาตลอดชีวิต จักเป็นการฟื้นฟูและพัฒนาความสัมพันธ์ระหว่าง การศึกษากับการดำเนินชีวิต ซึ่งจะนำไปสู่การฟื้นฟูและพัฒนาวัฒนธรรมของคนในชุมชน การจัดการศึกษาที่สอดคล้องกับวัฒนธรรม หรือใช้วัฒนธรรมของชุมชนเป็นพื้นฐาน ก็ย่อมจะเป็นการจัดการศึกษาที่มีความหมายต่อการแก้ปัญหาและพัฒนาวิถีชีวิตในชุมชนนั้นโดยตรง ในขณะเดียวกันก็เป็นการจัดการศึกษาที่ส่งเสริมให้คนในชุมชนมีทัศนะอันกว้างไกล มีความรู้ความเข้าใจทันข่าวสารข้อมูลและความเปลี่ยนแปลงในด้านต่าง ๆ อย่างกว้างขวางด้วย ทำให้คนในท้องถิ่นต่างมีทางเลือกในการแก้ปัญหาและพัฒนาวิถีชีวิตได้อย่างหลากหลาย
  8. การส่งเสริมการศึกษาตลอดชีวิต จักช่วยส่งเสริมความหมายและคุณค่าของพระพุทธศาสนาในสังคมไทย เพราะสาระสำคัญของคำสอนในพระพุทธศาสนา คือการชี้แนะแนวทางให้มนุษย์พัฒนาตัวเองอยู่สม่ำเสมอและต่อเนื่อง เพื่อจะได้สามารถพึ่งตนเองในการแก้ปัญหาในการดำเนินชีวิตได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นตามลำดับ ถึงขั้นที่หมดปัญหาและมีชีวิตที่เป็นอิสระ สะอาด สว่าง สงบ อย่างแท้จริง คำสอนในเรื่องมรรคมีองค์แปด หรือไตรสิกขา แท้ที่จริงแล้วก็คือแนวทางในการพัฒนาตน ซึ่งจะยังผลให้สามารถดำเนินชีวิตได้อย่างถูกต้อง เหมาะสมยิ่งขึ้นตามลำดับนั่นเอง ลักษณะของการศึกษาตลอดชีวิต เป็นที่ทราบกันแล้วว่า การศึกษาตลอดชีวิตเป็นรูปแบบของการเรียนรู้ของมนุษย์ ที่เกิดขึ้นตลอดชีวิตของมนุษย์ทุกคนนับตั้งแต่วัยแรกเกิดจนกระทั่งสิ้นชีวิต

Leave a Reply


test

สาระ เนื้อหา เรื่องราว ที่ปรากฎอยู่ในบล็อกแห่งนี้ จัดทำขึ้นเพื่อรวบรวมผลงาน แนวคิด จากการศึกษาเรียนรู้ และประสบการณ์ในการทำงาน รวมถึงการนำมาจากแหล่งข้อมูลอื่น(ซึ่งจะแจ้ง links ต้นทาง) นำมาเผยแพร่ให้กับท่านที่สนใจ ผ่านช่องทางและเวทีบล็อกแห่งนี้ หากท่านต้องการที่จะแนะนำ หรือแสดงความคิดเห็นที่เป็นประโยชน์ในการจัดทำบล็อกความรู้นี้ ติดต่อพูดคุย(ฝากข้อความ) ได้นะครับ
ขอบคุณที่กรุณาเข้าเยี่ยมชม
mediathailand