วันจันทร์ที่ 2 เมษายน พ.ศ. 2555

1.1_2 ความหมาย คุณค่า และความสำคัญ : นวัตกรรม

0 comments
 
นับแต่อดีต ในทุกยุค ทุกสมัย การดำเนินกิจกรรมด้านต่างๆ ในสังคม ชุมชน หรือบุคคล มักจะเผชิญปัญหาต่างๆ มากมาย ดังนั้น มนุษย์จึงพยายามสร้างสิ่งใหม่ๆ วิธีการใหม่ ขึ้นมาเพื่อใช้แก้ปัญหา เพื่อเปลี่ยนจากสภาพที่เคยเป็นอยู่แต่เดิม นำไปสู่สภาพที่อยากให้เป็นที่ดีขึ้น ดังนั้นวัตกรรมจึงเข้าไปเกี่ยวข้องในเกือบทุกวงการอาทิ นวัตกรรมทางการแพทย์ นวัตกรรมทางการเกษตร นวัตกรรมทางอุตสาหกรรม นวัตกรรมทางการสื่อสาร นวัตกรรมทางการบริหาร สิ่งที่สำคัญโดยเฉพาะนวัตกรรมทางการศึกษา เรามาศึกษาเรียนรู้ ในเนื้อหานี้กัน
ความหมายของนวัตกรรม
นวัตกรรม เป็นศัพท์บัญญัติของคณะกรรมการพิจารณาศัพท์วิชาการศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งแต่เดิมใช้คำว่า นวกรรม เป็นคำมาจากภาษาอังกฤษว่า Innovation แปลว่า การทำสิ่งใหม่ๆ หรือสิ่งใหม่ที่ทำขึ้นมา คำว่า นวกรรม มาจากคำบาลีสันสฤต คือ นว หมายถึง ใหม่ และกรรม หมายถึง ความคิด การปฏิบัติ

นวัตกรรม (Innovation) หมายถึง ความคิดและการกระทำใหม่ ๆ ที่นำมาใช้ในการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงการดำเนินงานให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้น

ในความหมายโดยทั่วไปแล้วสิ่งใหม่ๆ อาจ
หมายถึงความคิด วิธีปฏิบัติ วัตถุหรือสิ่งของที่ใหม่ ซึ่งยังไม่เป็นที่รู้จักมาก่อน คำว่านวัตกรรมนี้อาจมีผู้ใช้คำอื่นๆ อีก เช่น นวัตกรรม ความจริงแล้วก็เป็นคำ ๆ เดียวกันนั่นเอง

นวัตกรรม (Innovation) หมายถึง การนำความคิดใหม่ๆ วิธีการปฏิบัติใหม่ๆ หรือสิ่งประดิษฐ์ใหม่ๆ หรืออาจจะได้รับการปรับปรุงจากสิ่งดั้งเดิมให้ดีขึ้น เหมาะสมกับสถานการณ์ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ได้รับการทดลอง พิสูจน์และพัฒนาเป็นขั้นเป็นตอน เป็นระบบ จนเชื่อถือได้ว่าให้ผลที่ดีกว่าเดิม นำมาปรับปรุง เปลี่ยนแปลงแนวปฏิบัติทางการศึกษา เป็นผลทำให้ประสิทธิภาพทางการศึกษาสูงขึ้น
นวัตกรรม หรือ Innovate มาจากคำดั้งเดิมว่า Innovare ซึ่งหมายถึง to renew, to modify อาจแปลความหมายได้ว่า ทำใหม่ หรือเปลี่ยนแปลงสิ่งใหม่ๆเข้ามา (บุญเกื้อ,2543)
หมายเหตูนวัตกรรม เดิมใช้คำว่า นวกรรม
ซึ่งคำว่า นวกรรม มาจากคำบาลีสันสฤต คือ
นว หมายถึง ใหม่ และ กรรม หมายถึง ความคิด การปฏิบัติ

Everette M. Rogers (1983 : หน้า 11) ได้ให้ความหมายของคำว่า นวัตกรรม (Innovation)ไว้ คือ
ความคิด การกระทำ หรือวัตถุใหม่ๆ ซึ่งถูกรับรู้ว่า เป็นสิ่งใหม่ๆ ด้วยตัวบุคคลเแต่ละคนหรือหน่วยอื่นๆ ของการยอมรับ ในสังคม
(Innovation is a new idea, practice or object, that is perceived as new by the individual or other unit of adoption)

การพิจารณาว่าสิ่งหนึ่งสิ่งใดเป็นนวัตกรรมนั้น Rogers ได้ชี้ให้เห็นว่าขึ้นอยู่กับการรับรู้ของแต่ละบุคคลหรือกลุ่มบุคคลว่าเป็นสิ่งใหม่สำหรับเขา ดังนั้นนวัตกรรมของบุคคลกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งอาจไม่ใช้นวัตกรรมบุคคลกลุ่มอื่น ๆ ก็ได้ ขึ้นอยู่กับการรับรู้ของบุคคลนั้นว่าเป็นสิ่งใหม่สำหรับเขาหรือไม่ อีกประการหนึ่งความใหม่ (newness) อาจขึ้นอยู่กับระยะเวลาด้วย สิ่งใหม่ๆ ตามความหมายของนวัตกรรมไม่จำเป็นจะต้องใหม่จริงๆ แต่อาจจะหมายถึงสิ่งใดสิ่งหนึ่งที่เป็นความคิดหรือการปฏิบัติที่เคยทำกันมาแล้วแต่ได้หยุดกันไประยะเวลาหนึ่ง ต่อมาได้มีการรื้อฟื้นขึ้นมาทำใหม่เนื่องจากเห็นว่าสามารถช่วยแก้ปัญหาในสภาพการณ์ใหม่นั้นได้ ก็นับว่าสิ่งนั้นเป็นสิ่งใหม่ได้
ดังนั้น นวัตกรรมอาจหมายถึงสิ่งใหม่ๆ ดังต่อไปนี้
1. สิ่งใหม่ที่ไม่เคยมีผู้ใดเคยทำมาก่อนเลย
2. สิ่งใหม่ที่เคยทำมาแล้วในอดีตแต่ได้มีการรื้อฟื้นขึ้นมาใหม่
3. สิ่งใหม่ที่มีการพัฒนามาจากของเก่าที่มีอยู่เดิม


ความหมายของนวัตกรรมในเชิงเศรษฐศาสตร์ คือ การนำแนวความคิดใหม่หรือการใช้ประโยชน์จากสิ่งที่มีอยู่แล้วมาใช้ในรูปแบบใหม่ เพื่อทำให้เกิดประโยชน์ทางเศรษฐกิจ หรือก็คือ ”การทำในสิ่งที่แตกต่างจากคนอื่น โดยอาศัยการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ (Change) ที่เกิดขึ้นรอบตัวเราให้กลายมาเป็นโอกาส (Opportunity) และถ่ายทอดไปสู่แนวความคิดใหม่ที่ทำให้เกิดประโยชน์ต่อตนเองและสังคม” แนวความคิดนี้ได้ถูกพัฒนาขึ้นมาในช่วงต้นศตวรรษที่ 20 โดยจะเห็นได้จากแนวคิดของนักเศรษฐอุตสาหกรรม เช่น ผลงานของ Joseph Schumpeter ใน The Theory of Economic Development,1934 โดยจะเน้นไปที่การสร้างสรรค์ การวิจัยและพัฒนาทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี อันจะนำไปสู่การได้มาซึ่ง นวัตกรรมทางเทคโนโลยี (Technological Innovation) เพื่อประโยชน์ในเชิงพาณิชย์เป็นหลัก นวัตกรรมยังหมายถึงความสามารถในการเรียนรู้และนำไปปฎิบัติให้เกิดผลได้จริงอีกด้วย (พันธุ์อาจ ชัยรัตน์ , Xaap.com)

อย่างไรก็ดี คำจำกัดความที่ดูเหมือนจะครอบคลุมที่สุด คือ Invention + Commercialization หรือ ต้องมีการนำสิ่งประดิษฐ์ที่คิดว่าใหม่ ไปใช้ให้เกิดประโยชน์ได้จริง ทั้งทางธุรกิจ หรือ ทางสังคม ทั้งนี้รูปแบบของนวัตกรรม ก็สามารถแบ่งออกเป็นได้ตามรูปแบบ (Product, Service, Process) หรือ อาจแบ่งตามระดับความใหม่ก็ได้ ซึ่งจะแบ่งออกเป็น 4 กลุ่มด้วยกัน ได้แก่ Incremental, Modular, Architectural และ Radical Innovation Teerapon.T (2008) กล่าวถึง Innovation หรือ นวัตกรรมว่า อาจหมายถึง สิ่งประดิษฐ์ หรือ สิ่งใหม่ ที่ต้องสร้างให้เกิด Value Creation คือ นำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ได้นั่นเอง

นักการศึกษาให้คำนิยามของคำว่า นวัตกรรม ดังนี้

กรมวิชาการ (2521 : 15)
ให้ความหมายว่า นวัตกรรมคือ การนำสิ่งใหม่ ๆ เข้ามาเปลี่ยนแปลง เพิ่มเติมวิธีการที่มีอยู่เดิม เพื่อให้ผลดียิ่งขึ้น

คณะกรรมาธิการระหว่างชาติว่าด้วยการพัฒนาการศึกษา วิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) ให้ความหมายไว้ว่า เป็นความพยายามที่จะ เปลี่ยนแปลงภายในระบบการศึกษา อันกระทำไปด้วยความตั้งใจ และมุ่งมั่นที่จะปรับปรุงระบบการศึกษานั้นให้ดีขึ้นอย่างไรก็ตามความคิดเห็นใหม่ ๆ ที่คิดไว้อย่างดีแล้วนั้นไม่จำเป็นต้อง เป็นนวัตกรรมเสมอไป
ทอมัส ฮิวช์ (Thomas Hughes, 1971) ได้ให้ความหมาย " นวัตกรรม " ว่าเป็นการนำวิธีการใหม่ๆ มา ปฏิบัติ หลังจากได้ผ่านการทดลอง หรือได้รับการพัฒนามาเป็นขั้นๆ แล้ว โดยเริ่มมาตั้งแต่การคิดค้น (Invention) การพัฒนา (Development) ซึ่งอาจมีการทดลองปฏิบัติก่อน(Pilot project) แล้วจึงนำไปปฏิบัติจริง ซึ่งแตกต่างไปจากการปฏิบัติเดิมที่เคยปฏิบัติมาโทดาโร (Todaro) (อ้างในปุระชัย : 2529) ให้ความหมายว่า หมายถึง ประดิษฐ์กรรม (Innovation) หรือการค้นพบสิ่งใหม่ เช่นผลผลิตใหม่ กระบวนการใหม่ ตลอดจนแนวคิดในการหาหนทางที่จะนำเอาวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้ใน แนวใหม่

มอร์ตัน (J.A. Morton, 1973) กล่าวว่า " นวัตกรรม " หมายถึง การปรับปรุงของเก่าให้ใหม่ขึ้น และพัฒนาศักยภาพของบุคลากร ตลอดจนหน่วยงาน หรือองค์การนั้น นวัตกรรมไม่ใช่การขจัดหรือล้มล้างสิ่งเก่าให้หมดไป แต่เป็นการปรับปรุง เสริมแต่ง และพัฒนาเพื่อความอยู่รอดของระบบ

ไมล์ แมทธิว (Miles Matthew B. อ้างถึงใน ไชยยศ เรืองสุวรรณ. 2521 : 14) ได้กล่าว ถึง นวกรรมไว้ในเรื่อง Innovation in Education ว่า “นวกรรม หมายถึง การเปลี่ยนแปลงแนวคิดอย่างถ้วนถี่ การเปลี่ยนแปลงให้ใหม่ขึ้น เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพให้เป้าหมายของระบบบรรลุผล”

ปอตเตอร์และรอสซิล (Porter and Rossinl : 1983) ให้ความหมายไว้ว่านวัตกรรมเป็นกระบวนการผสมผสานและซับซ้อนซึ่งมักถูกละเลยเสมอ ๆ เพราะความเคยชิน ในการปฏิบัติเก่า ๆ

โรเจอร์ และชูเมคเกอร์ (Rogers and Shoemaker. 1971 : 19)
ให้ความหมายไว้ว่า เป็นการนำเอาวิธีการใหม่ ๆ มาปฏิบัติ ซึ่งผ่านการทดลอง และได้รับการพัฒนามาเป็นขั้น ๆ ตั้งแต่การคิดค้น (Invention) พัฒนาการ (Development)และทดลองในวงแคบ (Pilot Project) แล้วจึงนำมาใช้ปฏิบัติจริง โดยการปฏิบัติจะ แตกต่างจากเดิม

กิดานันท์ มลิทอง (2540 : 245) ได้กล่าวไว้ว่า นวัตกรรมเป็นแนวความคิด การปฏิบัติ หรือสิ่งประดิษฐ์ใหม่ ๆ ที่ยังไม่เคยมีใช้มาก่อนหรือเป็นการพัฒนาดัดแปลงจากของเดิมที่มีอยู่แล้วให้ทันสมัยและใช้ได้ผลดียิ่งขึ้น เมื่อนำนวัตกรรมมาใช้จะช่วยให้การทำงานนั้นได้ผลดีมีประสิทธิ- ภาพและประสิทธิผลสูงกว่าเดิม ทั้งยังช่วยประหยัดเวลาและแรงงานได้ด้วย

ชัยยงค์ พรหมวงศ์ (2521 : 3-4) ได้ให้ความหมายไว้ว่า หลักการวิธีปฏิบัติ และแนวคิดอย่างใดอย่างหนึ่งซึ่งไม่ถือว่าเป็นนวัตกรรมของประเทศหนึ่ง อาจจะเป็นนวัตกรรม ของประเทศอื่นก็ได้ และสิ่งที่ถือว่าเป็นวัตกรรมแล้วในอดีตหากมีการใชักันอย่างแพร่หลาย แล้วก็ไม่ถือว่าเป็นนวัตกรรม แต่สิ่งที่ใช้ไม่ได้ผลในอดีตหากมีการนำ มาปรับปรุงใช้ได้อย่าง มีประสิทธิภาพ สิ่งนั้นถือได้ว่าเป็นนวัตกรรม

ไชยยศ เรืองสุวรรณ (2526) ได้ให้ความหมาย " นวัตกรรม " ไว้ว่า หมายถึงวิธีการปฏิบัติใหม่ๆ ที่แปลกไปจากเดิม โดยอาจจะได้มาจากการคิดค้นพบวิธีการใหม่ๆขึ้นมา หรือมีการปรับปรุงของเก่าให้เหมาะสม ทั้งนี้สิ่งนั้น ๆ ได้รับการพัฒนาทดลองจนเชื่อถือได้ว่า ให้ผลดีในทางปฏิบัติทำให้เกิดประสิทธิภาพตามเป้าหมาย

จรูญ วงศ์สายัณห์ (2520 :37) ได้กล่าวถึงความหมายของ “นวัตกรรม” ไว้ว่า “แม้ในภาษาอังกฤษเอง ความหมายก็ต่างกันเป็น 2 ระดับ โดยทั่วไป นวัตกรรม หมายถึง ความพยายามใด ๆ จะเป็นผลสำเร็จหรือไม่ มากน้อยเพียงใดก็ตามที่เป็นไปเพื่อจะนำสิ่งใหม่ ๆ เข้ามาเปลี่ยนแปลงวิธีการที่ทำอยู่เดิมแล้ว กับอีกระดับหนึ่งซึ่งวงการวิทยาศาสตร์แห่งพฤติกรรม ได้พยายามศึกษาถึงที่มา ลักษณะ กรรมวิธี และผลกระทบที่มีอยู่ต่อกลุ่มคนที่เกี่ยวข้อง คำว่า นวัตกรรม มักจะหมายถึง สิ่งที่ได้นำความเปลี่ยนแปลงใหม่เข้ามาใช้ได้ผลสำเร็จและแผ่กว้างออกไป จนกลายเป็นการปฏิบัติอย่างธรรมดาสามัญ
วสันต์ อติศัพท์ (2523 : 15) กล่าวไว้ว่า นวกรรม เป็นคำสมาสระหว่าง “นว” และ “กรรม” ซึ่งมีความหมายว่า ความคิดและการกระทำใหม่ ๆ ที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงไปสู่สิ่งที่ดีกว่า เช่น นวกรรมทางการแพทย์ หมายถึง ความคิดและการกระทำใหม่ ๆ เพื่อที่จะเปลี่ยนแปลง ปรับ
ปรุง ตลอดจนแก้ปัญหาทางการแพทย์ที่มีอยู่ในปัจจุบัน นวกรรมการศึกษาก็หมายถึง ความคิดและการกระทำใหม่ ๆ ที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเพื่อจะแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นในระบบการศึกษา

สวัสดิ์ บุษปาคม (2517 : 1) กล่าวว่า นวัตกรรมหมายถึง การปฏิบัติ หรือกรรม วิธีที่นำเอาวิธีการใหม่มาใช้ ปรับปรุงเปลี่ยนแปลงวิธีการเดิมให้ดียิ่งขึ้น คือทำให้มี ประสิทธิภาพสูงขึ้น

เสริมศักดิ์ วิศาลาภรณ์ (2514 : 4) กล่าวว่า นวัตกรรม หมายถึง การเลือกการจัดและการใช้ทรัพยากรทั้งบุคคลและวัสดุอย่างชาญฉลาดในวิถีทางใหม่ ๆ ซึ่งเป็นผลให้ ได้รับความสำเร็จที่สูงกว่าและความสำเร็จนั้นเป็นความสำเร็จในจุดประสงค์ที่วางไว้ และ หมายรวมถึงการนำสิ่งใหม่ ๆ ซึ่งอาจเป็นความคิด วิธีการ ระบบความรู้ หรือเทคโนโลยี เข้ามาเพิ่มเติม หรือเปลี่ยนแปลงของที่มีอยู่เดิมให้ผลดียิ่งขึ้น



นวัตกรรม แบ่งออกเป็น 3 ระยะ คือ
ระยะที่ 1 มีการประดิษฐ์คิดค้น (Innovation) หรือเป็นการปรุงแต่งของเก่าให้เหมาะสมกับกาลสมัย
ระยะที่ 2 พัฒนาการ (Development) มีการทดลองในแหล่งทดลองจัดทำอยู่ในลักษณะของโครงการทดลองปฏิบัติก่อน (Pilot Project)
ระยะที่ 3 การนำเอาไปปฏิบัติในสถานการณ์ทั่วไป ซึ่งจัดว่าเป็นนวัตกรรมขั้นสมบูรณ์

Everette M. Rogers (1995) ได้ระบุว่ามี 5 ปัจจัยหลักที่ส่งผลต่อความเร็วในการแพร่กระจายของนวัตกรรม คือ 1. ผู้ใช้ต้องรู้สึกได้ว่านวัตกรรมนั้นต้องมีประโยชน์
2. นวัตกรรมนั้นต้องสามารถเข้ากับสภาพสังคมและวัฒนธรรมในเวลานั้นได้
3. ผู้ใช้ต้องรู้สึกว่านวัตกรรมนั้นๆ ง่ายต่อการใช้งานและง่ายต่อการเรียนรู้
4. ผู้ใช้ต้องสามารถที่จะทดลองใช้ก่อนที่จะตัดสินใจนำมาใช้อย่างถาวรได้
5. นวัตกรรมนั้นๆ ต้องสามารถให้ประโยชน์ได้อย่างเป็นรูปธรรม
Everette M. Rogers ระบุว่าทั้ง 5 ปัจจัย มีผลต่อความเร็วในการตอบรับของนวัตกรรมประมาณ 50-90% ดังนั้นบริษัทหรือกลุ่มคนที่สร้างนวัตกรรมควรให้ความสนใจเป็นอย่างมากต่อทั้ง 5 ปัจจัยดังกล่าว

Leave a Reply


test

สาระ เนื้อหา เรื่องราว ที่ปรากฎอยู่ในบล็อกแห่งนี้ จัดทำขึ้นเพื่อรวบรวมผลงาน แนวคิด จากการศึกษาเรียนรู้ และประสบการณ์ในการทำงาน รวมถึงการนำมาจากแหล่งข้อมูลอื่น(ซึ่งจะแจ้ง links ต้นทาง) นำมาเผยแพร่ให้กับท่านที่สนใจ ผ่านช่องทางและเวทีบล็อกแห่งนี้ หากท่านต้องการที่จะแนะนำ หรือแสดงความคิดเห็นที่เป็นประโยชน์ในการจัดทำบล็อกความรู้นี้ ติดต่อพูดคุย(ฝากข้อความ) ได้นะครับ
ขอบคุณที่กรุณาเข้าเยี่ยมชม
mediathailand