วันจันทร์ที่ 2 เมษายน พ.ศ. 2555

1.4 ระบบและวิธีการเรียนการสอนด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม

0 comments
 
ตลอดระยะเวลา 20 กว่าปีที่ผ่านมาสถานศึกษา นักการศึกษา ต่างระดมแนวคิดหาแนวทางการจัดการศึกษา เพื่อให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของโลกที่มีพัฒนาการในด้านต่างๆอย่างรวดเร็ว ได้มีการพัฒนา หาทางปรับปรุง เกี่ยวกับระบบ หรือรูปแบบการเรียนการสอน ด้วยการค้นหา พัฒนา วิธีการ แนวคิด ประยุกต์ด้วยการนำเครื่องมือ อุปกรณ์ มาใช้ร่วมในการดำเนินการจัดการศึกษา
ปัจจุบันจะพบว่า สถานศึกษาต่างๆ ได้เพิ่มขีดความสามารถทางเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร รวมถึงคิดค้นนวัตกรรม พัฒนาและแพร่กระจายเนื้อหาการเรียนการสอน และพัฒนาวิธีการสอน เพื่อช่วยให้ผู้เรียนที่มีความสามารถ สามารถเข้าถึงสังคมข้อมูลข่าวสารและความรู้ได้อย่างดี ทั้งนี้เพื่อให้สอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลง และความเจริญก้าวหน้าของเทคโนโลยี รัฐจึงได้เน้นความสำคัญของเทคโนโลยีการศึกษา โดยกำหนดสาระหลักไว้ใน หมวด 9 แห่ง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติฉบับ พ.ศ.2542 แต่การใช้เทคโนโลยีเพื่อการศึกษาในประเทศไทยนั้นยังกระทำไปได้ไม่เต็มที่ เท่าที่ควรจะเป็น ทั้งที่เทคโนโลยีได้ก้าวไปไกล มีเพียงสถานศึกษาไม่กี่แห่งที่มีความพร้อม ปรับปลี่ยนวิธีการเรียนการสอนในรูปแบบใหม่ กลไกในการดำเนินการ การใช้เทคโนโลยีเพื่อการศึกษาอย่างจริงจังนั้น อยู่ภายใต้องค์ประกอบที่สำคัญ หลายประการ อาทิ
1. บุคลากรครู โดย ส่งเสริมความรู้ การฝึกอบรมครู การพัฒนาบุคลากร ในทุกระดับ อย่างต่อเนื่องและจริงจัง ซึ่งในความเป็นจริง บุคลากรเป็นปัจจัยหลัก ในการขับเคลื่อนเทคโนโลยีการศึกษาไปสู่การจัดการศึกษา แต่ปัจจุบันพบว่า มีครูและบุคลากรทางการศึกษายังไม่ได้รับ(โอกาสหรือไม่คิดจะรับ) การพัฒนา นอกจากนี้ยังมีปัจจัยด้านนโยบายระดับล่าง หรือผู้บริหาร ซึ่งนับเป็นอุปสรรคสำคัญ ในการก้าวสู่กระบวนการใช้เทคโนโลยีในการจัดการศึกษา
2. โครงสร้างพื้นฐานทางเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร โดยการสนับสนุนโครงข่าย อุปกรณ์ เครื่องมือที่จำเป็น ต่อการเข้าถึงองค์ความรู้ ข้อมูล ข่าวสารต่างๆ ซึ่งปัจจุบันความเหลื่อมล้ำในช่องทางการเข้าถึง ระหว่างสังคมเมืองกับสังคมชนบท จะลดน้อยลงก็ตาม แต่ระหว่างสถานศึกษากลับพบว่า เครื่องมือ หรืออุปกรณ์ ที่เป็นช่องทางการเรียนรู้ในชั่วโมงการเรียน ยังมีความแตกต่างกันอยู่มาก
3. เครือข่าย การสร้างโครงข่ายหรือเครือข่ายการเรียนรู้ เน้นการใช้สื่อ สาระการเรียนรู้และข้อมูลร่วมกัน การก้าวไปสู่สังคมการเรียนรู้บนเครือข่ายปัจจัยสำคัญคือ ตัวข้อมูล สาระการเรียนรู้ แม้จะพบว่าจะอยู่ในสภาพมีการรวมตัวกันบ้าง ในกลุ่มสถานศึกษา แต่ก็มีไม่มากนัก การที่จะให้เครือข่ายมีความเข้มแข็ง จำเป็นต้องกำหนดเป็นนโยบาย หรือวิสัยทัศน์ของผู้บริหาร ในการสร้าง website พัฒนา website และเชื่อมโยง website สถานศึกษาแต่ละแห่งในแต่ละพื้นที่เข้าเป็นกลุ่มเครือข่ายด้วยกัน
4. ข้อมูล องค์ความรู้ ส่งเสริมให้สถานศึกษามีการพัฒนาสื่อ ทั้งในแบบออฟไลน์ และออนไลน์ ผลักดันให้มีการพัฒนาฐานการเรียนรู้บน website ระดมสร้างข้อมูลการเรียนรู้ หรือนวัตกรรมที่เอื้อประโยชน์ต่อการจัดการศึกษา
5. กระตุ้นให้เกิดการพัฒนาใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สถานศึกษาควรมี website ของสถานศึกษาเพื่อใช้เป็นเวทีกลางในการสร้างสรรผลงาน การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ของคณะครูร่วมกัน เป็นฐานหลักในการศึกษาหาความรู้ของผู้เรียนที่เป็นนักเรียน นักศึกษา เป็นช่องทางสื่อสารระหว่างหน่วยงาน ระหว่างสถานศึกษากับผู้ปกครอง กระตุ้นให้ครูผู้สอนได้พัฒนาสาระการเรียนรู้ เช่น จัดประกวด การจัดทำสื่อในลักษณะต่างๆทั้งในแบบออฟไลน์ และออนไลน์ การให้แรงจูงใจ การสร้างจรรโลงความก้าวหน้าทางวิชาการ การสร้างองค์ความรู้อันเกิดจากสภาพแวดล้อม การให้รางวัลแด่ครูผู้มีผลงานยอดเยี่ยม
สักวันหนึ่ง ในระยะเวลาอีกไม่นานนัก หลักการของกระบวนการจัดการเรียนการสอน อาจจะเปลี่ยนรูปแบบไปจากเดิมที่ครูผู้สอนจะเป็นผู้ถ่ายทอดเนื้อหา ประสบการณ์หลัก หรือ ความรู้เพียงหนึ่งเดียว ไปสู่ผู้ถ่ายทอดประสบการณ์ผนวก รวมถึงเป็น ผู้ชี้แนะผู้ประสานและกำหนดทิศทางของความรู้ที่ได้จากการเข้าถึงแหล่งข้อมูลความรู้ต่างๆ เช่น หนังสือเรียน ห้องสมุด ข้อมูลชุมชน สื่อสารมวลชน ฐานข้อมูลออนไลน์ไปจนถึงเครือข่ายอินเทอร์เน็ต

Leave a Reply


test

สาระ เนื้อหา เรื่องราว ที่ปรากฎอยู่ในบล็อกแห่งนี้ จัดทำขึ้นเพื่อรวบรวมผลงาน แนวคิด จากการศึกษาเรียนรู้ และประสบการณ์ในการทำงาน รวมถึงการนำมาจากแหล่งข้อมูลอื่น(ซึ่งจะแจ้ง links ต้นทาง) นำมาเผยแพร่ให้กับท่านที่สนใจ ผ่านช่องทางและเวทีบล็อกแห่งนี้ หากท่านต้องการที่จะแนะนำ หรือแสดงความคิดเห็นที่เป็นประโยชน์ในการจัดทำบล็อกความรู้นี้ ติดต่อพูดคุย(ฝากข้อความ) ได้นะครับ
ขอบคุณที่กรุณาเข้าเยี่ยมชม
mediathailand